UPS เผยผลการศึกษาทิศทางการจัดซื้อสินค้าแบบ B2B ในเอเชียแปซิฟิก ปี 2019 พบว่าผู้ซื้อในภูมิภาคสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ในสัดส่วนที่สูง แต่ยังคงเน้นสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในแบบออฟไลน์ โดยการศึกษาดังกล่าวอิงจากผลการสำรวจผู้ซื้อในอุตสาหกรรมต่างๆ กว่า 3,100 รายทั่วโลก รวมผู้ซื้อ 600 รายจากบริษัทในจีน ญี่ปุ่น และไทย
ผู้ซื้อในเอเชียระบุว่ามีแผนที่จะใช้ช่องทางออนไลน์ในการสั่งซื้อสินค้ามากขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งหากเจาะลึกเป็นรายประเทศจะพบว่าผู้ซื้อในญี่ปุ่นซื้อสินค้าทางออนไลน์ในสัดส่วน 31 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าทั้งในจีนและไทยที่มีสัดส่วนเท่ากันคือ 14 เปอร์เซ็นต์ โดยในประเทศไทย บริษัทที่มีงบจัดซื้อสูงมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ส่วนในจีน การสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือมีอัตราการเติบโตสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย
ในส่วนของการสั่งซื้อสินค้าจากภายในภูมิภาค 67 เปอร์เซ็นต์ของการสั่งซื้อสินค้าในภาคธุรกิจทั้งหมดในเอเชียเป็นการสั่งซื้อจากผู้จำหน่ายภายในภูมิภาคเดียวกัน เทียบกับ 73 เปอร์เซ็นต์ในสหรัฐอเมริกา และ 64 เปอร์เซ็นต์ในยุโรป ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการสั่งซื้อสินค้าจากแหล่งภายในภูมิภาคสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณสินค้าที่สั่งซื้อทั้งหมด อย่างไรก็ตามพฤติกรรมดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากเมื่อเร็วๆ นี้ญี่ปุ่นได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีหลายฉบับโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสหภาพยุโรป ผู้ซื้อสินค้าในเอเชียในการสำรวจครั้งนี้มองว่าปัจจัยสำคัญสามอันดับแรกที่เป็นอุปสรรคต่อการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ คือ ระยะเวลาส่งสินค้าที่นานกว่า (60 เปอร์เซ็นต์) ความล่าช้าของพิธีการศุลกากร (55 เปอร์เซ็นต์) และความยากลำบากในการคืนสินค้า (45 เปอร์เซ็นต์)
การบริการหลังการขายยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าทั่วโลก โดยเฉพาะในการสั่งซื้อสินค้าของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งครอบคลุมทุกหมวดหมู่และทุกภาคอุตสาหกรรม สำหรับในเอเชีย ผู้สั่งซื้อสินค้าจะให้ความสำคัญกับบริการหลังการขายมากกว่าในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งหมายรวมถึงบริการต่างๆ อาทิเช่น การคืนสินค้า บริการรับสินค้าสำหรับสินค้าที่ยากแก่การจัดส่ง และการจัดสรรวัสดุและหีบห่อสำเร็จรูปสำหรับการส่งคืนสินค้า ในประเทศจีนและญี่ปุ่น บริการซ่อมแซมและซ่อมบำรุงภายในสถานที่ของลูกค้านับเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ส่วนในประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับบริการส่งคืนสินค้ามากที่สุด
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่