บทบาทสำคัญของเครื่องบินขนส่งสินค้าในอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางอากาศ

0
3964

ถือเป็นประเด็นที่มีการตั้งคำถามอย่างมากระหว่างภาคส่วนเครื่องบินขนส่งผู้โดยสารและเครื่องบินขนส่งสินค้า ในเรื่องของการขนส่งสินค้าใต้ท้องเครื่องบินผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าโดยใช้เครื่องบินขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ หลังจากได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ รวมทั้งเข้าร่วมงานประชุมและงานอีเวนท์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้เราพบว่า อุตสาหกรรมของเครื่องบินขนส่งสินค้าทางอากาศได้รับความสนใจค่อนข้างน้อย หรืออาจกล่าวได้ว่า ตลาดของเครื่องบินขนส่งสินค้าทางอากาศมีความซบเซา เนื่องจากมีราคาค่อนข้างสูงและหลายฝ่ายอาจมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น

หากเราประเมินด้วยตัวเลขเพียงอย่างเดียว ดูเหมือนเครื่องบินผู้โดยสารจะมีข้อได้เปรียบและมีสัดส่วนในตลาดสูงกว่าเครื่องบินขนส่งสินค้าอยู่มาก อย่างไรก็ตาม นั่นถือเป็นการมองด้วยทัศนคติที่ไม่เปิดกว้าง โดยไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ที่แท้จริงและความยืดหยุ่นที่เครื่องบินขนส่งสินค้ามีต่ออุตสาหกรรมการขนส่งสินค้ามูลค่าสูง ว่ามีข้อได้เปรียบอย่างไรบ้าง

เพื่อเป็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดเครื่องบินขนส่งสินค้ามากขึ้น AFL ได้มีโอกาสพูดคุยกับ Mr. Thomas Crabtree นักวิเคราะห์ตลาดสายการบิน ประจำ Boeing ฝ่ายการตลาดด้านการขนส่งสินค้าและฝ่ายพัฒนาธุรกิจด้านเครื่องบินพาณิชย์ ด้วยประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศที่มีมาอย่างยาวนาน Mr. Crabtree ได้อธิบายเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของตลาดเครื่องบินขนส่งสินค้าทางอากาศ

Finding Your Niche

Mr. Crabtree มีประสบการณ์การวิเคราะห์ตลาดการขนส่งสินค้าทางอากาศมาเป็นเวลากว่า 20 ปี โดยตลอดระยะเวลาที่เขาปฏิบัติงานที่ Boeing ทำให้เขาเป็นบุคลากรกลุ่มแรกๆ ที่ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของตลาดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Mr. Crabtree กล่าวว่า “ในปี 2006 อัตราการเติบโตรายปีในระยะยาวมีค่าเฉลี่ยประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อัตราการเติบโตรายปีกลับมีค่าเฉลี่ยเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ โดยสภาพเศษฐกิจทั่วโลกที่ซบเซาในปี 2008 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทั่วโลก และถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ”

Mr. Thomas Crabtree

“โดยปัจจุบัน เศรษฐกิจทั่วโลกยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อเราด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตในส่วนของเครื่องบินผู้โดยสารยังถือว่ามีการเติบโตในอัตราที่ดี เนื่องจากทุกปีจะมีผู้คนจากทั่วโลกที่ซื้อตั๋วเครื่องบินครั้งแรกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทุกปีจะมีประชากรราว 100 ล้านคนที่ซื้อตั๋วเครื่องบินใบแรก ซึ่งนั่นถือเป็นตัวเลขที่มีจำนวนมากและมีความสำคัญ รวมทั้งยังถือเป็นข่าวดีต่ออุตสาหกรรมในภาพรวม”

ในขณะที่ตัวเลขของผู้โดยสารมีการเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น แต่สำหรับอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศแล้ว กลับถือเป็นตลาดที่มีความเฉพาะ (niche market) เป็นอย่างยิ่ง จากข้อมูลของ IATA พบว่า ในปี 2015 มีสินค้าที่ได้รับการขนส่งทางอากาศ โดยใช้พื้นที่ระวางใต้ท้องเครื่องบินและเครื่องบินขนส่งสินค้ารวมกันเป็นปริมาณ 52 ล้านตัน ซึ่งเมื่อเทียบกับปริมาณสินค้าที่ได้รับการขนส่งด้วยเรือขนส่งตู้สินค้าในปีเดียวกัน ซึ่งมีปริมาณถึง 1.7 พันล้านตันต่อปี จะเห็นได้ว่า สินค้าที่ได้รับการขนส่งทางอากาศ มีสัดส่วนเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ ของสินค้าที่ได้รับการขนส่งด้วยตู้สินค้าทั้งหมด

“เราต่างอยู่ในกรอบความคิดที่ว่า ทุกคนต้องการขนส่งสินค้าทางอากาศ” Mr. Crabtree กล่าว “แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นหลังเข้าไปพูดคุยกับผู้ส่งสินค้าคือ ผู้ส่งสินค้าเลือกขนส่งสินค้าทางอากาศก็ต่อเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันหรือเหตุฉุกเฉินขึ้นเท่านั้น การขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นเพียงตัวเลือกสำรองไม่ใช่ช่องทางการขนส่งหลัก ที่กล่าวเช่นนี้ ผมไม่ได้ต้องการให้ทุกคนหันไปใช้ช่องทางการขนส่งอื่นแทนการขนส่งสินค้าทางอากาศ แต่การเลือกช่องทางขนส่งอื่นก่อนการขนส่งสินค้าทางอากาศ เป็นเรื่องปกติของการบริหารจัดการงบประมาณ ซึ่งคือการเพิ่มรายได้ให้มากที่สุดและลดค่าใช้จ่ายให้สูญเสียน้อยที่สุด สำหรับคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศ เราควรทำความเข้าใจว่า เราควรทำทุกวิถีทางเพื่อให้การขนส่งทางอากาศเป็นทางเลือกที่ใครก็สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งนั่นจะเป็นหนทางที่ช่วยให้อุตสาหกรรมเติบโตยิ่งขึ้น”

Value to the Industry

ตัวเลขที่เกิดขึ้นย่อมไม่ใช่เรื่องโกหก เราจะเห็นได้ว่า สัดส่วนของสินค้าที่ได้รับการขนส่งด้วยเครื่องบินมีจำนวนน้อยกว่าสินค้าที่ได้รับการขนส่งทางทะเล แต่หากศึกษาถึงประเภทของสินค้าที่ได้รับการขนส่งในแต่ละรูปแบบจะเห็นได้ว่า สินค้าที่ได้รับการขนส่งทางทะเลส่วนมากเป็นสินค้าเทกอง และสินค้าที่มีมูลค่าต่ำ ในขณะที่สินค้าที่ได้รับการขนส่งทางอากาศเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง ที่ต้องการการขนส่งอย่างรวดเร็วและปลอดภัย

Mr. Crabtree กล่าวว่า “อุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศ เป็นอุตสาหกรรมที่ขนส่งสินค้ามีมูลค่าสูง โดยสินค้าที่มีมูลค่าสูงทั่วโลกกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ ได้รับการขนส่งทางอากาศ ทั้งนี้ จากจำนวนเครื่องบินกว่า 23,000 ลำทั่วโลก มีเครื่องบินขนส่งสินค้าเพียง 1,800 ลำเท่านั้น ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม แม้จะฟังดูไม่ใช่สัดส่วนที่มาก แต่เครื่องบินขนส่งสินค้าที่มีเพียง 8 เปอร์เซ็นต์นั้น ก็ขนส่งสินค้าทางอากาศคิดเป็น 54 เปอร์เซ็นต์ของการขนส่งสินค้าทางอากาศทั้งหมด หากวิเคราะห์ดูแล้ว เครื่องบินขนส่งผู้โดยสารมีรายได้หลักเพียงทางเดียวคือ ผู้โดยสารบนเครื่องบินและสัมภาระ แม้ว่าสายการบินบางรายจะให้บริการขนส่งสินค้าใต้ท้องเครื่องบินด้วย แต่ท้ายที่สุด สินค้าใต้ท้องเครื่องบินก็ไม่ใช่เป้าหมายหลักของสายการบิน ความต้องการในการขนส่งสินค้ายังได้รับความสำคัญรองจากการขนส่งผู้โดยสารและสัมภาระ อีกทั้ง เครื่องบินส่วนใหญ่ที่ให้บริการขนส่งทั้งผู้โดยสารและขนส่งสินค้าเป็นเครื่องบินประเภททางเดินเดี่ยว ซึ่งไม่มีพื้นที่เหมาะสมสำหรับบรรทุกสินค้าที่บรรจุในแพเล็ต บริษัทตัวแทนผู้รับจัดการสินค้าที่ทำการขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นหลัก มักต้องการขนส่งสินค้าโดยใช้พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการบรรทุกแพเล็ต เพื่อทำการซ้อนสินค้าบนแพเล็ต ห่อพลาสติก ใช้ตาข่ายคลุมสินค้า วางเอกสารบนแพเล็ต ติดตั้งชิพสำหรับการติดตามสถานะ และยกขนแพเล็ตลงจากเครื่องบินเมื่อถึงปลายทาง หากเราลองวางกองสินค้าบนพื้นที่ใต้ท้องเครื่องบินโดยไม่ใช้แพเล็ต อาจทำให้สินค้ามีโอกาสสูญหาย และการขนส่งด้วยช่องทางนั้นก็ไม่ถือเป็นทางเลือกการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหากยิ่งต้องทำการขนส่งสินค้าด้วยพื้นที่ระวางใต้ท้องเครื่องบิน ก็ยิ่งทำให้ตัวแทนผู้รับจัดการสินค้ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมและมีกำไรน้อยลง”

A Driving Force

ทั้งนี้ ด้วยการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce ที่กลายเป็นแรงผลักดันหลักของผู้บริโภคค้าปลีกทั่วโลก การขนส่งสินค้าทางอากาศได้กลายเป็นช่องทางการขนส่งสินค้าที่รวดเร็วและปลอดภัย ธุรกิจ e-Commerce ถือว่ามีศักยภาพในการขับเคลื่อนการเติบโตของการขนส่งสินค้าทางอากาศอย่างยิ่ง และเครื่องบินขนส่งสินค้าก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตดังกล่าว สายการบินที่ทำการขนส่งสินค้าด่วนถือว่ามีบทบาทที่เป็นรอง โดยจากสถิติของ Boeing บริษัทมีเครื่องบินลำตัวกว้าง 40 เปอร์เซ็นต์ ที่ปฏิบัติการในท้องตลาด และช่วยเพิ่มรายได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ของการขนส่ง

สินค้าทางอากาศในปี 2015 ซึ่งการใช้เครื่องบินขนส่งสินค้าโดยเฉพาะถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขนส่งแบบ door-to-door ได้ เนื่องจากเป็นรูปแบบการขนส่งที่ออกแบบมาเฉพาะให้ขนส่งสินค้าโดยตรงถึงมือลูกค้าปลายทาง โดยเป็นความสามารถที่การขนส่งสินค้าใต้ท้องเครื่องของเครื่องบินผู้โดยสารไม่สามารถทำได้

นอกจากนี้ การเติมสินค้ายังถือเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจ e-Commerce ที่บริษัทผู้ค้าปลีกอย่าง Amazon เริ่มเข้ามาลงทุนในฝูงบินขนส่งสินค้าโดยเฉพาะของตนเอง เพื่อเพิ่มความสามารถในการบริหารจัดการซัพพลายเชนของบริษัทฯ โดยแม้ว่าฝูงบินของ Amazon จะมีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับสายการบินรายอื่นที่เปิดให้บริการมานานกว่า แต่ก็ถือเป็นเครื่องสะท้อนว่า ธุรกิจ e-Commerce มีส่วนช่วยขับเคลื่อนความต้องการของเครื่องบินขนส่งสินค้า เนื่องจากเครื่องบินประเภทนี้มีความสำคัญต่อซัพพลายเชนทั่วโลกเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ได้มีการคาดการณ์ว่าธุรกิจ e-Commerce ทั่วโลกจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นสองเท่าในช่วงห้าปีข้างหน้า และคาดว่าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตสูงสุด โดยประเทศจีนมีทีท่าว่าจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียก็ถือเป็นประเทศที่เหมาะสมสำหรับใช้เครื่องบินขนส่งสินค้า หากประเมินจากจำนวนฐานการผลิตที่ตั้งอยู่ในทวีปแล้ว โดย Boeing รายงานว่า การขนส่งสินค้าทางอากาศกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ในเส้นทางเอเชีย-อเมริกาเหนือ และเอเชีย-ยุโรป ได้รับการขนส่งด้วยเครื่องบินขนส่งสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบางพื้นที่ของเอเชียที่มีเที่ยวบินผู้โดยสารมีความถี่ค่อนข้างจำกัด แต่กลับมีความต้องการในการขนส่งสินค้าสูง เป็นผลให้เครื่องบินขนส่งสินค้ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากสามารถให้บริการขนส่งนอกเวลาได้ และสามารถให้บริการขนส่งในเส้นทางที่ไม่มีบริการขนส่งใต้ท้องเครื่องได้

“ผมคิดว่า เรามองความต้องการในการขนส่งสินค้าด้วยเครื่องบินขนส่งสินค้าในภาพลบมากเกินไป” Mr. Crabtree กล่าว “จากข้อมูลเชิงตัวเลขของเครื่องบินขนส่งผู้โดยสารและเครื่องบินขนส่งสินค้าของเรา แสดงให้เห็นว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า สินค้าที่ได้รับการขนส่งทางอากาศมากกว่าครึ่งจะยังได้รับการขนส่งด้วยเครื่องบินขนส่งสินค้า โดยจากสถิติการขนส่งสินค้าทางอากาศที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในปี 2035 คาดว่าจะมีฝูงบินของเครื่องบินขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นถึง 70 เปอร์เซ็นต์ โดยปัจจุบัน รายได้จากการขนส่งสินค้าทางอากาศมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ มาจากสายการบินที่ปฏิบัติการด้วยเครื่องบินขนส่งสินค้าทางอากาศโดยเฉพาะ จะเห็นได้ว่า ผู้มีบทบาทในอุตสาหกรรมฯ ส่วนใหญ่ยังคงวางใจและเชื่อมั่นในการปฏิบัติการด้วยเครื่องบินขนส่งสินค้า เนื่องจากมีจุดเด่นและข้อได้เปรียบที่มากกว่า”

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้9 ข้อ ที่ต้องคำนึงถึงเมื่อเตรียมขนส่งสินค้า Oversized
บทความถัดไปIATA คาดการณ์แนวโน้มการเติบโตและความต้องการด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศปี 2019
Pichanon Paoumnuaywit
tech and history geek, who enjoys hunting and photographing dark skies and milky way