ทิศทางการขนส่งสินค้าทางอากาศของไทยในปี 2018

0
4900

เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศของประเทศไทยมีสถิติการเติบโตที่ดีขึ้น อันเป็นผลมาจากการขยายตัวที่ดีขึ้นของการค้าระหว่างประเทศโดยรวมทั่วโลก โดยตัวเลขการนำเข้า-ส่งออกสินค้าของประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายน ในปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวประมาณ 9 เปอร์เซ็นต์ แต่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของการขยายตัวดังกล่าวนั้น สืบเนื่องมาจากการขยายการลงทุนและมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการขนาดใหญ่จากต่างประเทศ ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ของไทยยังคงมีผลประกอบการอยู่ในระดับที่ทรงตัว ดังนั้น ในปี 2018 นี้ หน่วยงานภาครัฐจึงต้องเร่งปรึกษาหารือกับภาคเอกชนเพื่อหาแนวทางแก้ไข ด้วยการร่วมมือกันวางกลยุทธ์เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยมีผลประกอบการที่ดียิ่งขึ้นอย่างแท้จริง 

AFL ได้พูดคุยกับคุณชัยยงค์ เทียนวุฒิชัย นายกสมาคมตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทย (TAFA) เกี่ยวกับทิศทางอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางอากาศในปัจจุบัน รวมไปถึงวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ในการส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมฯ ในปี 2018 นี้

Growing Perishable Market

ตลอดปี 2017 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการหลายรายในอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางอากาศต่างมีการลงทุนนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้งานกันมากขึ้น รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตรด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการขนส่งสินค้าทางอากาศให้มีความถูกต้อง แม่นยำ ปลอดภัย รวดเร็ว และเพิ่มความสามารถในการติดตามสถานะสินค้าได้ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยเฉพาะการให้บริการขนส่งสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อเวลาและอุณหภูมิ อาทิ สินค้าเภสัชภัณฑ์ สินค้าเวชภัณฑ์ รวมไปถึงสินค้ามูลค่าสูง สินค้าอันตราย และสินค้าเน่าเสียง่าย ซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษตลอดการขนส่ง

“เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าเน่าเสียง่ายทางอากาศมีปริมาณเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่ใหญ่ที่สุดของโลก อีกทั้ง กระบวนการผลิตและการขนส่งสินค้าเน่าเสียง่ายของไทยยังมีการบริหารจัดการสินค้าที่ดี ทำให้เป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกสินค้าประเภทนี้ ยังคงมุ่งมั่นปรับปรุงและพัฒนาขั้นตอนการเก็บรักษาสินค้าให้คงคุณภาพที่ดีตลอดการขนส่ง อีกทั้งยังเลือกใช้บริการจากบริษัทผู้ให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าที่มีมาตรฐาน ซึ่งต่างก็ล้วนแต่เป็นการกระตุ้นให้ผู้ให้บริการจัดการสินค้าภาคพื้นเร่งพัฒนาปรับปรุงขั้นตอนการจัดเก็บสินค้าและยกขนสินค้าในทุกขั้นตอน จึงทำให้ปัจจุบัน การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการควบคุมอุณหภูมิที่ทันสมัยมาปรับใช้กลายเป็นเรื่องที่จำเป็นมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มว่าในอนาคตผู้ให้บริการภาคพื้นในไทยจะมีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับปริมาณสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นไปอีก รวมไปถึงการขยายพื้นที่เก็บรักษาอุณหภูมิของสินค้าด้วย” คุณชัยยงค์ กล่าว

นอกเหนือจากสินค้าเน่าเสียง่ายที่เป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกของไทยที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นแล้ว สินค้าประเภทชิ้นส่วนอะไหล่สำรองรถยนต์ก็มีปริมาณการส่งออกที่เติบโตด้วยเช่นกัน เนื่องจากประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอะไหล่สำรองเครื่องยนต์ เพื่อส่งออกไปประกอบรถยนต์ในประเทศอื่น จึงทำให้สินค้ากลุ่มนี้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน สินค้าประเภทแฟชั่นก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่มีการส่งออกเป็นจำนวนมาก ทั้งสินค้าที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย และสินค้าที่ผลิตขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ได้รับการขนส่งทางรถบรรทุกจากประเทศกัมพูชาและเมียนมา เพื่อส่งออกต่อไปยังประเทศปลายทาง

Developing Innovations

คุณชัยยงค์ เทียนวุฒิชัย นายกสมาคมตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทย (TAFA)

“การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้งาน ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้การขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในปี 2018 นี้ สมาคมฯ ได้วางแผนพัฒนานวัตกรรมส่วนรวมให้กับผู้ประกอบการรายย่อม โดยเราจะมองหาพันธมิตรทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถอำนวยประโยชน์ต่อธุรกิจของบริษัทขนาดย่อม เพื่อเพิ่มโอกาสในการนำเสนอบริการให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น” คุณชัยยงค์ กล่าว

นอกเหนือจากการผลักดันนโยบายในการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อผู้ประกอบการขนาดย่อมแล้ว สมาคม TAFA ยังมีส่วนร่วมในการผลักดันเงื่อนไขในการใช้เขตปลอดอากร (Free Zone) ซึ่งปัจจุบันเขตปลอดอากรและสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังไม่ได้ถูกนำมาสร้างอรรถประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ  จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีการรวมตัวของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางอากาศทั้งขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ที่จะผนึกกำลังกันวางโครงการ TAFA Consortium ในการที่จะลงทุนสร้างบริการเพิ่มมูลค่า (Value-added Services) ที่จะช่วยสร้างจุดขาย เสริมความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการ SME โดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน ณ เขตปลอดอากร อย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้ง ทางสมาคมฯ ยังได้วางแผนที่จะนำเสนอต่อภาครัฐให้มีการพัฒนาพื้นที่ Airport Logistics Park ภายในท่าอากาศยานอู่ตะเภา เนื่องจากขณะนี้ท่าอากาศยานอู่ตะเภาอยู่ระหว่างการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางอากาศภายใต้โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในอีกสี่ปีข้างหน้าอีกด้วย

“ปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอยู่ระหว่างการขยายพื้นที่เฟสที่สอง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสามปี โดยเมื่อเฟสที่สองเสร็จ การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยจะดำเนินการพัฒนาเฟสที่สาม บนถนนบางนา-ตราดต่อทันที ซึ่งน่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณสี่ปี ดังนั้น เมื่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งสามเฟสเสร็จสมบูรณ์ โครงการพัฒนาขั้นต่อไปที่คาดไว้ก็คือท่าอากาศยานอู่ตะเภา นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการเสนอแผนการพัฒนารถไฟฟ้าความเร็วสูง เพื่อเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาด้วย” คุณชัยยงค์ อธิบายเพิ่มเติม

Updating Rules and Procedures

นอกจากการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ๆ เพิ่มเติมในอนาคต เพื่อผลักดันให้การขนส่งสินค้าทางอากาศของไทยเติบโตเพิ่มขึ้นแล้ว การปรับปรุงและแก้ไขข้อกฎหมายให้มีความยืดหยุ่นก็เป็นสิ่งจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันผลักดันด้วยเช่นกัน

“กฎระเบียบและข้อกฎหมายต่างๆ ที่ภาครัฐได้กำหนด เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างยากลำบาก ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐจึงจำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงเกี่ยวกับข้อกฎหมายสำหรับการขนส่งสินค้าทางอากาศให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้ให้บริการธุรกิจที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น”

ตัวอย่างเช่น การให้บริการโลจิสติกส์และขนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศในเขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งมีกฎระเบียบที่จำกัด เนื่องจากต้องมีใบอนุญาตการนำเข้าสินค้า อย่าง ใบอนุญาตนำหรือสั่งอาหารเข้ามาในราชอาณาจักร หรือใบอนุญาตการนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งสินค้าบางชนิดไม่ได้รับการอนุญาตให้มีการนำเข้ามาในประเทศไทย ทำให้ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนถ่ายสินที่ท่าอากาศยาน Changi Airport ประเทศสิงคโปร์แทน

“เมื่อเร็วๆ นี้ ทางสมาคมฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ในการปรับปรุงกฎระเบียบดังกล่าว เพื่อให้ธุรกิจดำเนินการได้อย่างไร้รอยต่อ ทำให้ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการขนถ่ายสินค้าในไทยจำนวนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีข้อกฎหมายอีกหลายข้อที่ต้องมีการแก้ไข โดยทางสมาคมฯ จะเร่งนำเสนอและผลักดันให้มีการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้มีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้น” คุณชัยยงค์ กล่าว

Economic Outlook

อย่างที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศท่องเที่ยวสำคัญของโลก ทำให้มีเที่ยวบินผู้โดยสารเข้ามาลงจอดในประเทศไทยพร้อมสินค้าที่โหลดใต้ท้องเครื่องอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยได้เปรียบด้านต้นทุนการขนส่งสินค้าทางอากาศ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่ปริมาณสินค้าน้อยกว่า อย่าง กัมพูชาและเมียนมา เพราะประเทศเหล่านี้มีอัตราค่าระวางสินค้าสูงกว่าไทยถึง 20 เปอร์เซ็นต์ โดยนอกเหนือจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักของไทยแล้ว ท่าอากาศยานในจังหวัดท่องเที่ยวของไทยก็ได้รับความนิยมจากสายการบินชั้นนำด้วยเช่นกัน

“ท่าอากาศยานภูเก็ตเป็นหนึ่งในท่าอากาศยานไทยที่ได้รับความนิยมสูง สายการบินหลายแห่งได้เปิดให้บริการเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศมายังภูเก็ต ทำให้ปริมาณสินค้าทั้งขาเข้า-นำผ่าน-ขาออกจากภูเก็ต รวมทั้งหมด เติบโตขึ้น 7.4, 18.24 และ 32.97 เปอร์เซ็นต์ ตลอดระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณขนส่งสินค้าทางบกมายังท่าอากาศยานภูเก็ตก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ในปี 2018 สายการบิน Qatar Airways ก็ได้มีการวางแผนที่จะเปิดให้บริการเที่ยวบินตรงมายังท่าอากาศยานอู่ตะเภาด้วย จึงคาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การขนส่งสินค้าทางอากาศในปี 2018 มีแนวโน้มการเติบโตที่มากขึ้น” คุณชัยยงค์ กล่าว

ในระหว่างปี 2016 จนถึงปี 2017 ที่ผ่านมา อัตราค่าระวางสินค้าทางอากาศของไทยอยู่ในระดับทรงตัว ซึ่งคาดว่าปี 2018 นี้ อัตราค่าพื้นที่ระวางจะมีการปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณตันสินค้าที่เคลื่อนไหวเข้าสู่ระบบการขนส่งสินค้าทางอากาศของไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง พฤศจิกายน ในปี 2017 ที่ผ่านมา เติบโตขึ้นอีกประมาณ 130,000 ตัน หรือคิดเป็น 10.7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่รัฐบาลได้วางแนวนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษตามชายแดน นับเป็นปัจจัยที่ส่งผลดีต่อตัวเลขการค้าของประเทศโดยรวมต่อไปในอนาคตเช่นกัน

สำหรับการเติบโตของอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางอากาศในปี 2018 นี้ คาดว่าจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ที่ช่วยกันผลักดันนโยบายส่งเสริมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการปรับข้อกฎหมายด้านการจัดการขนส่งสินค้าทางอากาศให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น พร้อมร่วมกันพัฒนาโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยให้มีโอกาสแข่งขันในตลาดโลกมากยิ่งขึ้นไปอีก

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้Yusen Logistics นำความชำนาญสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
บทความถัดไปความก้าวหน้าของนวัตกรรม โดรนขนส่งสินค้า ในอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศ
Pichanon Paoumnuaywit
tech and history geek, who enjoys hunting and photographing dark skies and milky way