สมาคมป้องกันทรัพย์สินที่มีการขนส่ง (Transported Asset Protection Association) หรือ TAPA เปิดเผยข้อมูลจากรายงาน Incident Information Service (IIS) พบว่าในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2019 เกิดปัญหาการโจรกรรมสินค้าในซัพพลายเชนของภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (EMEA) ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 80 ล้านยูโร (2.7 พันล้านบาท)
ในช่วงไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ของปี 2019 มีสินค้าที่สูญหายคิดเป็นมูลค่ากว่า 34.2 ล้านยูโร (1.1 พันล้านบาท) และ 21 ล้านยูโร (708 ล้านบาท) ในขณะที่ความเสียหายจากการโจรกรรมสินค้าในไตรมาสที่ 3 คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 26.4 ล้านยูโร (890 ล้านบาท) แม้ว่าจะมีสินค้าเพียง 23.8 เปอร์เซ็นต์จากปัญหาอาชญากรรมสินค้าที่เกิดขึ้น 596 ครั้งในรายงาน IIS ของ TAPA ในภูมิภาค EMEA ที่ได้รับความเสียหาย
ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2019 สมาคมฯ ยังได้รับรายงานปัญหาอาชญากรรมสินค้าจาก 22 ประเทศในภูมิภาค EMEA ทั้งนี้ จากรายงาน IIS ของ TAPA ฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์เป็นสองประเทศที่เกิดเหตุอาชญากรรมสินค้าสูงที่สุด โดยเกิดเหตุโจรกรรมสินค้าในฝรั่งเศสทั้งสิ้น 146 ครั้ง คิดเป็น 24.5 เปอร์เซ็นต์ของเหตุโจรกรรมสินค้าทั้งหมดที่เกิดขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2019 ในขณะที่เนเธอร์แลนด์เกิดเหตุโจรกรรมสินค้า 136 ครั้ง คิดเป็น 22.8 เปอร์เซ็นต์
ประเภทสินค้าที่ตกเป็นเป้าของการโจรกรรมประกอบด้วยผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องเรือนและอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน ใบยาสูบ รถบรรทุกและหางลาก โลหะ เสื้อผ้าและรองเท้า เครื่องมือและอุปกรณ์ก่อสร้าง เงินสด อะไหล่รถยนต์ คอมพิวเตอร์และแล็ปท็อป เครื่องสำอางและสบู่ รวมไปถึงเครื่องอัญมณีต่างๆ
นอกจากนี้ จากบันทึกการรายงานอาชญากรรมผ่านระบบ IIS ประจำไตรมาสที่สามของปี 2019 ยังระบุว่า กว่า 85 เปอร์เซ็นต์ ของสินค้าที่ขนส่งผ่านซัพพลายเชน มักตกเป็นเป้าหมายของการโจรกรรมในระหว่างที่การขนส่งด้วยรถบรรทุก โดยพาหนะขนส่งถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนของซัพพลายเชนในการโจรกรรม และได้รับการรายงานเหตุการโจกรรมพาหนะขนส่งทั้งหมด 259 ครั้ง ตามด้วยเหตุโจรกรรมสินค้าที่บรรจุในหางลากรถบรรทุก 113 ครั้งในช่วงไตรมาสที่สามของปีที่ผ่านมา ซึ่ง TAPA กล่าวว่า การขาดแคลนสถานที่จอดรถที่ปลอดภัยเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การโจรกรรม
สมาคม TAPA ได้รับการก่อตั้งขึ้นในปี 1997 และมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมสินค้าในซัพพลายเชน ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายเป็นมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันมีบริษัทกว่า 800 แห่งทั่วโลกเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ได้แก่ ผู้ผลิตและผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระดับโลก องค์กร SME ตัวแทนรับจัดการขนส่งสินค้า ผู้ปฏิบัติการขนส่งสินค้า ตลอดจนผู้ประกอบการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่