Cargolux ต้อนรับเครื่องบินลวดลายคลาสสิคสู่ฝูงบิน

0
2197
Cargolux Welcomes Retro-branded Aircraft

Cargolux สายการบินขนส่งสินค้าชั้นนำของยุโรป ได้เฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ด้วยการต้อนรับเครื่องบินขนส่งสินค้า Boeing 747-400 ERF ทะเบียนอากาศยาน LX-NCL สู่ราชรัฐลักเซมเบิร์ก โดยเครื่องบินลำดังกล่าวได้รับการทาสีใหม่เป็นลวดลายของอากาศยานสมัยเริ่มต้นของสายการบินฯ เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์ พร้อมแสดงถึงวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลสู่อนาคต ผ่านลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ ที่ผสมผสานกับอัตลักษณ์อันโดดเด่นของเครื่องบินตระกูล Boeing 747

ทั้งนี้ ลวดลายบนเครื่อง LX-NCL ได้รับแรงบันดาลใจมาจากฝูงเครื่องบินขนส่งสินค้ารุ่นแรกของ Cargolux ในยุค 70 ที่เริ่มจากการปฏิบัติการเครื่องบินขนส่งสินค้า Canadair CL-44 ก่อนที่จะนำเครื่อง Douglas DC-8 เข้ามาเสริมในฝูงบิน

อนึ่ง Cargolux Airlines International เป็นสายการบินขนส่งสินค้าชั้นนำของยุโรป ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ราชรัฐลักเซมเบิร์ก ปฏิบัติการด้วยฝูงเครื่องบินที่ทันสมัย อันประกอบด้วยเครื่องบินขนส่งสินค้า Boeing 747-8 จำนวน 14 ลำ และเครื่องบินขนส่งสินค้า Boeing 747-400 จำนวน 16 ลำ พร้อมเครือข่ายทั่วโลกของสายการบินฯ ที่ครอบคลุมกว่า 75 ปลายทาง

Cargolux ยังมีสำนักงานถึง 85 แห่ง ใน 50 ประเทศ ซึ่งให้บริการเช่าเหมาลำ รวมถึงบริการรถบรรทุกสินค้าที่มีเครือข่ายครอบคลุมปลายทางกว่า 250 แห่ง ทั้งนี้ Cargolux ยังมอบบริการซ่อมบำรุงเครื่องบิน ณ โรงเก็บเครื่องบินขนาดสองลำที่ทันสมัยในลักเซมเบิร์กอีกด้วย 

โดยสายการบินฯ มีความเชี่ยวชาญในบริการซ่อมบำรุงเครื่องบิน B747 รุ่นต่างๆ รวมถึงบริการซ่อมบำรุงใหญ่ ประเภท C-Check และยังมีความชำนาญในบริการซ่อมบำรุงเครื่องบินตระกูล B777 ด้วย ทั้งนี้ Cargolux Group มีพนักงานกว่า 2,000 คนทั่วโลก

ภายใต้วิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในขณะนี้ Cargolux รับบทบาทสำคัญในการเป็นสะพานเชื่อมการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศจีน ทวีปเอเชีย และปลายทางอื่นๆ ทั่วโลก เพื่อส่งมอบสินค้าเภสัชภัณฑ์แก่ทวีปยุโรป และภูมิภาคอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต 

เครื่องบิน Boeing 747 ฉายา Jumbo Jet หรือ ราชินีแห่งท้องนภา เป็นเครื่องบินเจ็ตขนาดใหญ่ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการขนส่งผู้โดยสารปริมาณมากในยุคปี 1960 ซึ่งเป็นยุคเฟื่องฟูของการเดินทางทางอากาศ โดยอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของ B747 ก็คือ โหนกหลังอันเกิดจากการบรรจุห้องโดยสารสองชั้นบริเวณตอนหน้าของเครื่อง และจำนวนเครื่องยนต์ที่มีมากถึง 4 เครื่อง ทำให้กลายเป็นจุดเด่นที่สังเกตได้ง่าย อีกทั้งยังได้รับความไว้วางใจจากกองทัพสหรัฐในการพัฒนาเป็นเครื่อง Air Force One อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม จากสภาพภูมิทัศน์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ Jumbo Jet เสื่อมความนิยมลง และ Boeing มีกำหนดยุติสายการผลิตของเครื่อง B747 ลงในปี 2020 ที่จะถึงนี้

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้DB Schenker เตรียมปรับใช้อุปกรณ์อัจฉริยะเสริมประสิทธิภาพงานคลังสินค้า
บทความถัดไปBoeing รับคำสั่งดัดแปลงเครื่อง Boeing 737-800BCF สองลำ จาก AFG