Qatar Airways Cargo เริ่มใช้งานตู้ ULD แบบทนไฟรุ่นใหม่ของ Safran Cabin

0
1532
Qatar Airways Cargo

Qatar Airways Cargo สายการบินขนส่งสินค้าในเครือ Qatar Airways ก้าวขึ้นเป็นสายการบินขนส่งสินค้ารายแรกที่ใช้โซลูชันตู้เก็บสินค้าทนไฟ (FRC) แบบใหม่ของ Safran Cabin

โดยในช่วงห้าปีต่อจากนี้ Qatar Airways Cargo จะเปลี่ยนมาใช้ตู้เก็บสินค้าแบบใหม่นี้ทั้งหมด ทดแทนกองตู้เก็บสินค้าในปัจจุบันที่มีจำนวนมากกว่า 10,000 ตู้ โดยคาดว่าจะสามารถแทนที่ตู้เก็บสินค้าเดิมได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2022

การตัดสินใจลงทุนในตู้เก็บสินค้าทนไฟที่ได้รับการพัฒนาขึ้นใหม่นี้เป็นผลจากการที่สายการบินฯ ต้องการป้องกันความเสี่ยงจากชิปเมนท์สินค้าที่มีแบตเตอรี่ลิเธียมเป็นส่วนประกอบ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ Mr. Guillaume Halleux ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการสินค้า สายการบิน Qatar Airways กล่าวถึงภายในงาน World Cargo Symposium ที่จัดขึ้นโดย IATA ใน Dublin ประเทศไอร์แลนด์

โดย Mr. Halleux กล่าวว่า “ในฐานะสายการบินขนส่งสินค้าชั้นนำ เราให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้โดยสารและพนักงานเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องด้วยมีการขนส่งอุปกรณ์ที่ใช้แบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนด้วยตู้ ULD เพิ่มมากขึ้น เราจึงมองหาโซลูชันที่จะช่วยป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับตู้เก็บสินค้าในการยกขนและจัดเก็บสัมภาระ รวมถึงการขนส่งสินค้าด้วย ซึ่งจากการทดสอบได้ยืนยันแล้วว่า ตู้เก็บสินค้า FRC รุ่นใหม่ของ Safran Cabin สามารถทนไฟได้จริง และเรามีความยินดีอย่างยิ่งที่สามารถนำโซลูชันนี้มาใช้กับการขนส่งสินค้าใต้ท้องเครื่องของเราได้ภายในระยะเวลาอันสั้น”

ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องความปลอดภัยในการขนส่งแบตเตอรี่-ลิเธียมไอออนและสินค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาร์ทโฟน ได้สร้างความกังวลให้แก่สายการบินต่างๆ ซึ่งผลักดันให้ Safran Cabin ขยายขอบข่ายโซลูชันจากตู้เก็บสินค้าทนเพลิงระดับ Class-A (การเผาไหม้จากเชื้อเพลิงทั่วไป เช่น กระดาษ หรือกระดาษแข็ง) แบบเดิม ให้มีตู้เก็บสินค้าทนเพลิงระดับ Class-D เพิ่มขึ้น โดยได้รับการออกแบบให้สามารถทนเพลิงที่เกิดจากลิเธียมได้นานถึงหกชั่วโมง

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้GEODIS ลงทุนปรับใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติที่ศูนย์กระจายสินค้าใน Hong Kong
บทความถัดไปBoeing เตรียมเปิดสายการผลิตสำหรับดัดแปลงอากาศยานใหม่สามแห่ง