ท่าอากาศยาน Paro ร่วมโครงการ Get Airports Ready for Disaster (GARD) ยกระดับการรับมือภัยพิบัติ

0
245

ท่าอากาศยานนานาชาติ Paro ประสบความสำเร็จในโครงการ Get Airports Ready for Disaster (GARD) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยโครงการ GARD สามารถสำเร็จลุล่วงได้ด้วยการร่วมมือระหว่างพันธมิตรหลากหลายราย ทั้งโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำภูฏาน โครงการอาหารโลก (WFP) ประจำภูฏาน สมาพันธ์ผู้ควบคุมจราจรทางอากาศนานาชาติ (IFATCA) ผู้นำทีมหลัก DHL Group กรมการบินพาณิชย์ (DoAT) กรมการปกครองท้องถิ่นและป้องกันสาธารณภัย (DLDGM) และการสนับสนุนจากสภาสนามบินสากล (ACI) ประจำเอเชียแปซิฟิกและตะวันออกกลาง

โครงการ GARD เป็นการจับมือเป็นพันธมิตรระหว่างภาครัฐและเอกชนในระดับโลก มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนท่าอากาศยานต่างๆ ในการวางแผนเตรียมพร้อมกับบทบาทการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์เมื่อเกิดภัยพิบัติ อาทิ น้ำท่วม แผ่นดินไหว เพลิงไหม้ และแผ่นดินถล่ม รวมถึงการควบรวมบทบาทของท่าอากาศยานในแผนรับมือภาวะฉุกเฉินระดับชาติ

โครงการ GARD ครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมราว 50 คน ในงานเวิร์กช็อปสี่วัน ซึ่งครอบคลุมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมถึงการประเมินความสามารถในการปฏิบัติการทั้งสินค้าและผู้โดยสารได้มากที่สุดที่ท่าอากาศยานจะสามารถรองรับได้ โดยผู้เข้าร่วมได้รับความรู้ครอบคลุมหัวข้อหลากหลาย ทั้งการหาปัญหาคอขวดที่อาจเกิดขึ้น และมาตรการเพื่อขยายความสามารถในการรองรับให้ได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดภัยพิบัติ

“ภัยพิบัติ รวมถึงแผ่นดินไหวได้กลายเป็นปัญหาทั่วไปและมีความรุนแรงมากขึ้น ท่าอากาศยานเป็นศูนย์กลางปฏิบัติการโลจิสติกส์ที่ใช้เพื่อตอบรับและบรรเทาทุกข์ภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที ในฐานะที่เป็นท่าอากาศยานนานาชาติเพียงแห่งเดียวของภูฏาน การยกระดับความพร้อมเพื่อรับมือภัยพิบัติในท่าอากาศยาน Paro จึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วนอย่างยิ่ง UNDP มีความภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับ RGoB ได้จับมือกับ DHL ในฐานะพันธมิตรระดับโลกของ UNDP และได้ร่วมกับ WFP ในการดำเนินโครงการ Get Airport Ready for Disaster ซึ่งเป็นการสนับสนุนที่สอดคล้องกับงานที่ดำเนินอยู่ของ UNDP ร่วมกับรัฐบาล ด้วยความมุ่งมั่นในการยกระดับการรับมือความเสี่ยง” Mr. Mohammad Younus ผู้แทนโครงการ UNDP ประจำภูฏาน (Resident Representative)

“โครงการ GARD มีความมุ่งมั่นในการผลักดันให้ท่าอากาศยานจำนวนมากที่สุดในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงได้เตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ภูฏานตอบรับการสนับสนุนจากกลุ่มพันธมิตรของเรา สถานที่ตั้งของท่าอากาศยานมีความท้าทายที่เฉพาะตัว และเราได้ร่วมมือกับทีมงานในท้องถิ่นเพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ เราสนับสนุนให้เวิร์กช็อปในครั้งนี้ได้มีส่วนช่วยประเทศอื่นๆ ในการสร้างมาตรฐานที่ยืดหยุ่นเพื่อรับมือภัยพิบัติภายในท่าอากาศยาน” Mr. Carl Schelfhaut หัวหน้าโครงการ GoHelp บริษัท DHL ประจำเอเชียแปซิฟิก

ท่าอากาศยานนานาชาติ Paro ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ท่ามกลางภูเขา โดยถือเป็นหนึ่งในท่าอากาศยานที่มีความท้าทายมากที่สุดในโลก โดยมีนักบินเพียง 20 คนที่ได้รับการรับรองให้สามารถปฏิบัติการบินเข้าและออกจากท่าอากาศยานแห่งนี้ได้ เนื่องจากภูฏานมีความเสี่ยงในการเกิดเหตุแผ่นดินไหวและน้ำท่วมสูง จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ท่าอากาศยานและบุคลากรประจำท่าอากาศยานมีความสามารถในการดำเนินการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์หากเกิดเหตุภัยพิบัติ

สำหรับโครงการ GARD ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 2009 โดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนการเตรียมความพร้อมรับมือของท่าอากาศยาน และตอบรับกับความสามารถในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ โดยโครงการนี้ได้ดำเนินการในท่าอากาศยานมากกว่า 60 แห่งในกว่า 29 ประเทศ รวมทั้งฝึกฝนทักษะในการรับมือกับสินค้าและผู้คนที่อาจหลั่งไหลเข้ามาในปริมาณมากหากเกิดภัยพิบัติ เพื่อให้การช่วยเหลือหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่เพื่อปฏิบัติการบรรเทาทุกข์ และประเมินสถานการณ์ในท่าอากาศยาน


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้KWE เปิดตัวบริการ KWE Green Consolidation โดยใช้เชื้อเพลิง SAF
บทความถัดไปLufthansa Cargo รับมอบเครื่องบินขนส่งสินค้า A321 ลำที่สี่