การขนส่งสินค้าทางอากาศนั้นเป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อน และต้องอาศัยความเชี่ยวชาญจากผู้ประกอบการที่มีความสามารถ รวมทั้งมีความเข้าใจธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นอย่างดี สำหรับในประเทศไทย Bangkok Flight Services หรือ BFS เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการภาคพื้นชั้นแนวหน้า ที่มีความเชี่ยวชาญมากที่สุด
BFS ก่อตั้งจากความร่วมมือของบริษัท เวิลด์ไวด์ไฟลท์เซอร์วิส จำกัดและบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ปัจจุบัน BFS ให้บริการภาคพื้น ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อันประกอบด้วยการบริการฝ่ายการโดยสาร ฝ่ายบริการภาคพื้นและลานจอด และฝ่ายบริการคลังสินค้าทั้งขาเข้าและขาออก โดยมีจำนวนสายการบินลูกค้ามากกว่า 70 สายการบินทั่วโลก
สำหรับบริการด้านคลังสินค้าส่งออกนั้น BFS จะทำหน้าที่รับสินค้าจากลูกค้าของสายการบินและบริษัทตัวแทนรับจัดการขนส่งสินค้า ก่อนจะทำการลำเลียงและขนถ่ายสินค้าขึ้นอากาศยานเมื่อถึงกำหนดเวลาออก
นิตยสาร AFL ฉบับนี้ มีโอกาสได้พูดคุยเกี่ยวกับการบริการใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าผู้ส่งออกของ BFS รวมทั้งการพัฒนาใหม่ๆ ภายในแผนกสินค้าส่งออกของ BFS โดยมี คุณนิวัฒน์ แสงเสน่ห์ และ คุณสุวรรณวุฒิ จำนงค์ศาสตร์ ผู้จัดการคลังสินค้า มาร่วมเผยถึงแนวทางการพัฒนาการในอนาคตเพื่อยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้าของ BFS ให้ดียิ่งขึ้น
Export Delivery Slot Time
ช่วงเวลาตั้งแต่บ่ายโมงเป็นต้นไป เป็นช่วงที่คลังสินค้าของ BFS จะคลาคล่ำไปด้วยรถบรรทุกหรือแม้แต่รถหัวลากจำนวนนับไม่ถ้วน เข้าแถวรอคิวบริเวณหน้าคลังสินค้าก็จะมีความแออัดเป็นพิเศษ และผู้ส่งสินค้าแต่ละรายจะต้องรอคิวเพื่อส่งมอบสินค้าให้กับ BFS ซึ่งจะให้บริการในแบบ ‘First-come, First served’ ทำให้เกิดการแออัด ล่าช้า สิ้นเปลืองทั้งเวลา ทรัพยากรรถบรรทุก และต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแก่ลูกค้าและผู้ขนส่ง
ด้วยเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว BFS จึงพัฒนาระบบจองช่วงเวลานำส่งสินค้า หรือเรียกอีอย่างว่า ‘Export Delivery Slot Time’ เพื่อให้การนำสินค้าเข้าคลังสินค้าส่งออกมีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
คุณนิวัฒน์ อธิบายถึงระบบ Export Delivery Slot Time โดยกล่าวว่า “ระบบดังกล่าวนี้ ทาง BFS พัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับตัวแทนผู้ประกอบการ ขนส่งสินค้าในการจองประตูขนสินค้าขาออก ล่วงหน้า กล่าวคือ โดยปกติแล้วเมื่อตัวแทนขนส่งสินค้าเดินทางมาถึงคลังสินค้า ทาง BFS จะทำการจัดคิวการส่งสินค้าตามลำดับก่อนหลัง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ตัวแทนขนส่งสินค้ามักจะเข้ามาส่งสินค้าพร้อมๆ กันช่วงบ่ายไปจนถึงช่วงค่ำของวัน ทำให้เกิดความแออัดบริเวณหน้าคลังสินค้าและมีความล่าช้าเกิดขึ้น”
“ด้วยระบบ Export Delivery Slot Time นี้ ตัวแทนขนส่งสินค้าสามารถจองช่วงเวลาสำหรับส่งสินค้า โดยแจ้งข้อมูลสินค้าและอีเมลติดต่อผ่านช่องทางหน้าเว็บไซต์ของ BFS จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ของ BFS จะทำการจองช่วงเวลาและจัดช่องลงสินค้าที่เหมาะสมให้กับรถบรรทุกของตัวแทนขนส่งสินค้า รวมทั้งเตรียมพนักงานในการรับสินค้า และตอบกลับอีเมลเพื่อยืนยัน เมื่อตัวแทนขนส่งสินค้ามาถึง พร้อมกับเอกสารที่จำเป็นโดยครบถ้วน ก็สามารถเข้าส่งสินค้าให้กับคลังได้ทันทีโดยไม่ต้องรอคิว”
“เราพยายามเชิญชวนและผลักดันให้ตัวแทนขนส่งสินค้าใช้งานระบบ Export Delivery Slot Time เพราะปัจจุบันมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการคลังสินค้าของ BFS จำนวนมาก อีกทั้งยังมีตัวแทนขนส่งสินค้าที่ลากตู้คอนเทนเนอร์จากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเข้ามาใช้บริการของเราด้วย หากทางเราสามารถทราบเวลาและจำนวนของสินค้าที่ทางตัวแทนฯ ต้องการส่ง ก็จะสามารถจัดสรรทรัพยากรบุคคลให้เหมาะสมกับผู้ใช้บริการได้ ซึ่งนั่นไม่เพียงช่วยให้การทำงานของเราคล่องตัวขึ้นเท่านั้น แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ก็จะตกอยู่กับลูกค้าและผู้ใช้บริการของเราเป็นสำคัญ” คุณสุวรรณวุฒิ กล่าวเสริม
Latest Scanning Technology
ขั้นตอนการทำงานตามปกติของแผนกสินค้าส่งออกของ BFS นั้น เริ่มต้นที่การตรวจรับสินค้าทั่วไปและสินค้าควบคุมอุณหภูมิที่ผู้ส่งสินค้านำมาส่ง ตรวจเอกสารขาออก (AWB) จากนั้นก็จะนำสินค้าไปชั่งน้ำหนักและวัดปริมาตร แล้วจึงนำสินค้าไปพักในคลังสินค้า และเมื่อพร้อมก็จะจัดระวางบรรทุกตามแผนการโหลด (Load Plan) และขนถ่ายสินค้าขึ้นบนอากาศยาน
นอกจากระบบ Export Delivery Slot Time ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ส่งสินค้าแล้ว BFS ยังติดตั้งเครื่องสแกนสินค้าระบบแสงเลเซอร์ (Automatic Volume Scanner) จำนวน 4 เครื่องที่บริเวณจุดรับสินค้าขาออก ซึ่งถือเป็นจุดคอขวดจุดหนึ่งในกระบวนการปฏิบัติการของแผนกฯ เพื่อกระชับกระบวนการทำงานและเพิ่มความแม่นยำให้กับการวัดปริมาตรสินค้า
คุณสุวรรณวุฒิ กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้เมื่อสินค้าขาออกมาถึงคลังสินค้า พนักงานของเราจะทำการวัดขนาดและคำนวนปริมาตรของสินค้าด้วยมือ ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน โดยเฉพาะในตอนที่มีสินค้าจำนวนมากหรือมีสินค้าขนาดใหญ่ และต้องใช้บุคลากรจำนวนมากในการจัดการ รวมถึงอาจเกิดความคลาดเคลื่อนในการวัดขนาด (Human Error) ขึ้นได้”
“แต่ปัจจุบันระบบสแกนสินค้าใหม่ของเราสามารถวัดขนาดและคำนวนปริมาตรรวมของสินค้าได้โดยอัตโนมัติ ด้วยระบบสแกนเลเซอร์ โดยเครื่องสแกนสามารถบอกข้อมูลสามมิติของสินค้าซึ่งประกอบด้วย ความกว้าง ความยาว ความสูง และน้ำหนักของสินค้า ซึ่งจะทำให้กระบวนการรับสินค้ามีความรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น นอกจากนี้เครื่องแสกนดังกล่าวยังแสดงผลตัวเลขปริมาตรสินค้าได้ตามจริง พร้อมแสดงผลใน e-weight slip และ เอกสารการชั่งสินค้า (weight slip) ได้อีกด้วย”
การติดตั้งระบบสแกนสินค้าใหม่นี้ ช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการทำงานได้ถึงสองเท่า เมื่อเทียบกับการวัดขนาดสินค้าด้วยวิธีการแบบดั้งเดิม ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ BFS นำเข้ามาเพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานให้รวดเร็วและเปี่ยมประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
Moving Towards the Future
ด้วยปริมาณสินค้าที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด BFS จึงมีการลงทุนพัฒนาระบบพื้นฐานภายในคลังสินค้าอย่างต่อเนื่อง อาทิ การสร้างชั้นวางจัดเก็บสินค้าในคลังสินค้าเพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายพื้นที่ชั้นจัดเก็บ ETV Location จาก 3 ชั้นเป็น 4 ชั้น เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าและลูกค้าได้มากขึ้น นอกจากนี้ทางทีมงานฝ่าย IT ของ BFS ยังได้พัฒนาซอฟต์แวร์จัดการคลังสินค้า E-ICS(Export Inventory Control System) และ ETV-ICS (ETV- Inventory Control System) ขึ้นเป็นการภายใน เพื่อให้การจัดการภายในคลังสินค้า รวมถึงกระบวนการจัดระวางบรรทุกสินค้ามีความสะดวก รวดเร็ว และถูกต้องมากขึ้น
อีกหนึ่งระบบที่กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาติดตั้ง นั่นก็คือ ระบบ เคลื่อนย้าย ULD อัตโนมัติ ซึ่งนับว่าเป็นนวัตกรรมล่าสุดในคลังสินค้าขาออกของ BFS ซึ่งคุณสุวรรณวุฒิกล่าวถึงระบบดังกล่าวว่า “โดยปกติแล้วเมื่อทีมงานของเราจัดระวางบรรทุกสินค้าตามแผนการโหลด (Load Plan) สินค้าเสร็จแล้ว เราจะลำเลียง ULD ดังกล่าวไปยังพื้นที่จัดเก็บที่เตรียมไว้ด้วยระบบเคลื่อนย้าย ULD ซึ่งในตอนนี้ยังต้องอาศัยคนควบคุมในทุกขั้นตอน ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองทั้งเวลาและทรัพยากรแรงงาน เราจึงพัฒนาระบบเคลื่อนย้าย ULD อัตโนมัติขึ้นมา เพื่อลดความยุ่งยากของขั้นตอนดังกล่าว โดยระบบใหม่นี้จะทำการลำเลียง ULD ไปรอการจัดเก็บบนชั้นวาง ETV Location โดยอัตโนมัติ ซึ่งนอกจากเพิ่มความรวดเร็วให้กับกระบวนการทำงานแล้ว ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับสินค้าอีกด้วย เพราะระบบคอมพิวเตอร์จะคอยควบคุมไม่ให้เกิดการกระทบกระแทกกันของ ULD ที่ลำเลียงอยู่บนลางเลื่อน ในขณะที่การควบคุมด้วยคนยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นได้”
ในยุคที่ E-Commerce นำพาให้อุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง การจะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ BFS ก็มีการปรับปรุงและลงทุนเพื่อพัฒนาระบบพื้นฐานเพื่อให้สามารถบริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา สมกับสถานะความเป็นหนึ่งในผู้นำของอุตสาหกรรมผู้ให้บริการรับจัดการสินค้าภาคพื้นชั้นนำของไทยอย่างเต็มภาคภูมิ
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่