โรงพยาบาลสนาม: ความท้าทายในการส่งความช่วยเหลือหลังเหตุภัยพิบัติ

0
1133

ทุกคนต่างทราบดีว่าภัยพิบัติสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นแล้วสิ่งสำคัญที่สุดก็คือการเตรียมความพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น และจัดเตรียมสิ่งของที่จำเป็นแก่การช่วยเหลือและทีมงานให้พร้อมออกปฏิบัติการช่วยเหลืออยู่เสมอ ไม่ว่าอุบัติภัยอันเลวร้ายจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ตาม

เป้าหมายหลักของการขนส่งสินค้าแก่ผู้ประสบภัย คือการช่วยชีวิต การบรรเทาความทุกข์ยาก และการสนับสนุนด้านเครื่องมือ รวมถึงความช่วยเหลืออื่นๆ ให้แก่ผู้ที่ต้องการ ทั้งนี้ เพื่อให้ปฏิบัติการช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ องค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการเตรียมตัวเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ทั่วโลกมาโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม การขนส่งสินค้าให้การช่วยเหลือจำนวนมากจากที่หนึ่งไปยังจุดหมายปลายทางอีกที่หนึ่งถือเป็นงานที่มีความท้าทายซึ่งอาศัยทั้งความมุ่งมั่นและความทุ่มเทเป็นอย่างยิ่ง

เพื่อเป็นการทำความเข้าใจในเชิงลึกเกี่ยวกับภาคส่วนการขนส่งอุปกรณ์และเครื่องมือบรรเทาทุกข์ทางอากาศ AFL ได้มีโอกาสพูดคุยกับ Mr. Stuart Smith ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ และผู้อำนวยการฝ่ายการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม กลุ่มสายการบิน Volga-Dnepr

ด้วยประสบการณ์ของ Mr. Smith ในงานด้านการให้ความช่วยเหลือภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินในระดับนานาชาติ การจัดการขนส่งสินค้าทางอากาศ และการขนส่งสินค้าให้การช่วยเหลือในช่วงสุดท้ายมีส่วนทำให้สายการบิน Volga-Dnepr กลายเป็นหนึ่งในสายการบินที่มีชื่อเสียงในด้านนี้

Handling it All

การบรรเทาสาธารณภัยเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนสำคัญ ซึ่งมีสิ่งของจำเป็นจำนวนมากที่ต้องได้รับการขนส่งไปยังพื้นที่ต่างๆ มากมาย ในการจัด การกับภาคส่วนนี้ มักจะมีหน่วยงานเฉพาะทางที่ทำหน้าที่ในการผลิตและจัดเก็บในคลังสินค้า ที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ประสบภัยพิบัติบ่อยครั้ง โดยประเภทสินค้าหลักสามารถแบ่งออกเป็น สินค้าประเภทน้ำและอุปกรณ์ด้านสุขอนามัย อาหาร เภสัชภัณฑ์ ที่พักอาศัย เครื่องมือสื่อสาร รวมถึงบริการโลจิสติกส์และการขนย้าย

Mr. Stuart Smith

Mr. Smith กล่าวว่า “สินค้าเพื่อการช่วยเหลือโดยทั่วไปมักเป็นสินค้าสำหรับการอุปโภคบริโภค เช่น อาหาร ยา อุปกรณ์ด้านสุขอนามัย หรือที่พัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ สินค้าเหล่านี้จะต้องมีขนาดกระทัดรัด ไม่ใหญ่โตมากเกินไปนัก อย่างไรก็ตาม ในการขนส่งสินค้าเพื่อให้การช่วยเหลือยังต้องมีการขนส่งสินค้าเฉพาะทาง เช่น โรงพยาบาลสนาม ยานพาหนะ เครื่องปั่นไฟ ซึ่งมีความท้าทายในการขนส่งสินค้าทางอากาศที่แตกต่างกันออกไป โดยสายการบินฯ สามารถเตรียมการขนส่งทางอากาศให้ได้ทั้งสินค้าขนาดใหญ่และสินค้าขนาดปกติด้วยเครื่องบินที่มีขนาดลำตัวกว้าง เพื่อให้ขั้นตอนการขนย้ายเป็นไปอย่างรวดเร็ว”

เมื่อพูดถึงการขนย้ายสินค้าที่มีขนาดใหญ่อย่างโรงพยาบาลเคลื่อนที่ Mr. Smith ได้อธิบายว่า “สายการบินฯ มีฝูงบินที่ประกอบไปด้วยเครื่องบิน รุ่น An-124-100 และ Il-76-TD-90VD ซึ่งมีความสามารถเฉพาะจากการมีอุปกรณ์สำหรับ เคลื่อนย้ายสินค้าและเครนยกขนในตัว ทำให้เราขนส่งโรงพยาบาลสนามได้ทุกชนิด ตั้งแต่โรงพยาบาลสนามที่มีขนาดเท่ากับตู้ขนส่งสินค้าขนาด 40 ฟุต และ 20 ฟุต ไปจนถึงโรงพยาบาลสนามในรูปแบบเต็นท์”

ขณะที่ขั้นตอนในการจัดการสินค้ามักจะมีความคล้ายคลึงกัน แม้ว่าขนาดและลักษณะของสินค้าที่ขนส่งจะมีความแตกต่างกันก็ตาม โดยสายการบินฯ จะเป็นผู้รับสินค้าจากเจ้าหน้าที่จัดการสินค้าประจำท่าอากาศยานและปฏิบัติงานร่วมกับลูกค้าเพื่อเตรียมการขนส่งต่อไปยังปลายทาง

Mr. Smith กล่าวว่า “สินค้าจะได้รับการจัดเตรียมเพื่อเคลื่อนย้ายขึ้นเครื่องโดยเจ้าหน้าสายการบินฯ ที่ปฏิบัติงานภาคพื้นในท่าอากาศยาน จากนั้นผู้ควบคุมการขนย้ายที่มีประสบการณ์สูงของสายการบินฯ จะทำหน้าที่ดูแลการขนย้ายสินค้าขึ้นเครื่องบินอย่างปลอดภัย เมื่อเดินทางถึงท่าอากาศยานปลายทาง ก็จะมีการขนย้ายและกระจายสินค้าต่อไป ทั้งนี้ สายการบินฯ มีความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติการบนท่าอากาศยานทุกรูปแบบ แม้ว่าโครงสร้างพื้นฐานของท่าอากาศยานจะแตกต่างกันจากที่เคยปฏิบัติการก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อเป็นการตอบสนองความช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้รับสินค้ายังสามารถนำรถบรรทุกไปรับสินค้าได้โดยตรงจากเครื่องบินภายในท่าอากาศยาน เนื่องจากความยืดหยุ่นถือเป็นจุดแข็งของสายการบินฯ ในการขนส่งสินค้าช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม”

Speed is Critical

นอกจากปัจจัยอื่นแล้ว ความรวดเร็วถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการขนส่งสินค้าเพื่อการช่วยเหลือฉุกเฉิน เพราะชีวิตของผู้คนมากมายถูกแขวนอยู่บนเส้นด้าย ดังนั้น ทุกๆ วินาทีจึงมีค่า “ความเร็วในการปฏิบัติการคือปัจจัยสำคัญในการตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินทางภัยพิบัติและวิกฤตการณ์ต่างๆ นอกจากนี้ เรายังภาคภูมิใจกับการให้ความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วและสร้างสรรค์”

Mr. Smith กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในภาคส่วนนี้ การแจ้งล่วงหน้าเพื่อเริ่มปฏิบัติการขนส่งทางอากาศมักเกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น และในบางครั้งมีเวลาเพียงแค่ 24 ชั่วโมงเท่านั้น ล่าสุด เจ้าหน้าที่สายการบินฯ ประจำสหรัฐอเมริกาต้องจัดการขนส่งสินค้าทางอากาศให้กับสำนักจัดการภาวะฉุกเฉินกลาง (FEMA) ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อให้การช่วยเหลือจากเหตุพายุไต้ฝุ่นมังคุดพัดเข้าสู่ชายฝั่งของเกาะ Guam”

จากการคอยระวังและเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติ ทำให้สายการบินฯ สามารถปฏิบัติการได้อย่างทันท่วงที ทันทีที่ได้รับรายงานเหตุ เวลาที่มีอยู่ก็เริ่มนับถอยหลัง การสะสมสินค้าที่จำเป็นไว้ในคลังสินค้าล่วงหน้าเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อความเร็วและความสำเร็จของปฏิบัติการ Mr. Smith กล่าวเสริมว่า “สายการบินฯ มีการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการคลังสินค้าที่ตั้งอยู่ในทุกพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงฐานปฏิบัติการประจำภูมิภาคของสายการบินฯ ที่สัมพันธ์กับจำนวนสินค้าในคลังสินค้า ซึ่งได้มีการจัดการไว้รองรับองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรและหน่วยงานจากองค์การสหประชาชาติ เราได้มีการทุ่มเทเพื่อศึกษาวิธีการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายของสายการบินฯ ที่ช่วยส่งเสริมการขนส่งสินค้าช่วยเหลือทางอากาศอย่างประสิทธิภาพมากที่สุดในสถานการณ์ฉุกเฉิน อีกทั้ง เรายังได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพื้นที่ที่มีแนวโน้มเกิดภัยพิบัติทั่วโลก รวมถึงพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติอยู่บ่อยครั้งมาโดยตลอด เพื่อนำมาเป็นหัวข้อในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการหรือการประชุมร่วมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องของสายการบินฯ ในฐานะสายการบินที่ให้การช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุดังกล่าว”

Needs on the Ground

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการเตรียมตัวเป็นอย่างดี แต่ปฏิบัติการขนส่งสินค้าช่วยเหลือก็ต้องเผชิญกับความท้าทาย เมื่อต้องทำการขนส่งสินค้าไปยังพื้นที่ประสบภัย กรณีที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้อาจพบเห็นไม่ได้บ่อยนัก แต่การบินลงพื้นที่ประสบภัยถือเป็นแบบทดสอบที่ท้าทายของสายการบินฯ เนื่องจากท่าอากาศยานและลานบินอาจได้รับความเสียหายจนทำให้ต้องมีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าระหว่างปฏิบัติการ เมื่อเครื่องบินลงจอดได้แล้ว การกระจายสินค้าช่วยเหลือไปยังสถานที่ต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายเช่นกัน แต่ทั้งหมดนี้กลับกลายเป็นสิ่งที่สายการบินฯ มีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก จากคำบอกเล่าของ Mr. Smith

“เนื่องจากเราเป็นกลุ่มสายการบิน ที่นำเสนอโซลูชั่นการขนส่งสินค้าจากท่าอากาศยานแห่งหนึ่งไปยังท่าอากาศยานอีกแห่งเป็นเรื่องปกติ จากประสบการณ์ในการขนส่งสินค้าด้วยเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำที่ต้องปฏิบัติการภายใต้ความเร่งด่วนตลอด 28 ปีที่ผ่านมา ทำให้เรามีความสามารถในการให้บริการเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น การให้ความช่วยเหลือทั้งช่วงเวลาก่อนการขนส่ง ระหว่างการขนส่งไปยังท่าอากาศยาน การจัดการสินค้าและอื่นๆ นอกจากนี้ เรายังมีประสบการณ์ในการปฏิบัติการขนส่งสินค้าช่วยเหลือไปยังพื้นที่ประสบภัยที่มีเพียงท่าอากาศยานขนาดเล็ก ด้วยความสามารถในการจัดการสินค้าของเครื่องบิน รุ่น An-124-100 และ Il-76-TD-90VD รวมถึงความสามารถในการลงจอดภายในสนามบินขนาดเล็กที่ไม่มีเครื่องมือในการจัดการสินค้ารองรับ”

“อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยยังคงเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกและเราต้องแน่ใจว่าได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมโดยรอบลานบินที่เพียงพอและถูกต้อง ทั้งในเรื่องของความแข็งแรง ความยาว รวมถึงเส้นทางที่สามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้ เรายังมีการปฏิบัติการในฝูงบินพิเศษด้วยเครื่องบิน Antonov และ Ilyushin ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือภาคพื้นที่ซับซ้อนมากนัก อีกทั้ง ความต้องการจัดการภาคพื้นของเครื่องบินเหล่านี้ไม่ได้มีความพิเศษเฉพาะที่ซับซ้อนมากเกินไป เมื่อเทียบกับเครื่องบินประเภทอื่น ทำให้โดยส่วนใหญ่แล้วเราต้องการแค่แรงงานคน รถยกขนสินค้า และรถบรรทุกหรือยานพาหนะสำหรับบรรทุกสินค้าออกจากท่าอากาศยาน ซึ่งสายการบินฯ สามารถจัดการปฏิบัติการทุกที่ ไม่เว้นแม้แต่ในสถานที่ห่างไกล”

Working Together

เราจะเห็นได้ว่าการขนส่งชิปเมนท์ประเภทนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยความร่วมมือจากกลุ่มคนและองค์กรทั้งหลายเป็นสิ่งที่ช่วยให้การขนส่งชิปเมนท์ดังกล่าวประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี

“หน่วยงานรัฐบาลเป็นคนกลุ่มแรกที่ต้องทำหน้าที่ในการตอบสนองต่อสถานการณ์ภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน Search + Rescue (SAR teams) โดยสายการบินฯ จะทำหน้าที่เป็นตัวแทน ของรัฐบาล องค์การสหประชาชาติ สหพันธ์สภา กาชาด และสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ รวมถึงองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังเข้ามามีส่วนร่วมเช่นกัน ตั้งแต่บริษัทผู้ผลิตเต็นท์ ไปจนถึงผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์ และบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการให้ความช่วยเหลือในสถานการณ์ภัยพิบัติ”

Mr. Smith กล่าวส่งท้ายว่า “ภาคส่วนนี้เป็นส่วนงานที่กลุ่มสายการบินฯ มุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็น ผู้นำในบรรดาผู้ปฏิบัติการสายการบินรายอื่นๆ ในอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางอากาศ การเข้าถึงท่าอากาศยานและโลจิสติกส์เป็นกุญแจสำคัญในการประสานงานให้การช่วยเหลือ รวมทั้งบทบาทของภาคเอกชนซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับเงื่อนไขและข้อมูลในการขนส่งสินค้าช่วยเหลือให้แก่หน่วยงาน องค์กรที่ไม่แสวงหากำไรและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ สายการบินฯ ยังมุ่งหวังที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับองค์กรอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย อาทิ สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNOCHA) รวมถึงการเข้าถึงท่าอากาศยานและการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติการจาก UNOCHA และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ร่วมกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมฯ เพื่อให้มั่นใจว่าสายการบิน Volga-Dnepr จะสามารถดำเนินการขนส่งสินค้าช่วยเหลือได้ตามเป้าหมายหลัก นั่นคือ การขนส่งสินค้าให้เป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อให้การช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ได้อย่างทันท่วงที”

Published on Airfreight Logistics (AFL) magazine : November 2018


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้Qatar Airways Cargo เดินหน้าโครงการ 1 Million Kilos เยียวยาวิกฤต COVID-19
บทความถัดไปการจัดการซัพพลายเชนสินค้าแฟชั่น: เพราะความรวดเร็วคือข้อได้เปรียบ