ท่าอากาศยานนานาชาติ Istanbul ในตุรกีจัดฝึกอบรมสำหรับทีมรับมือภัยพิบัติ (Disaster Response Team: DRT) ในยุโรปเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 19-21 เมษายนที่ผ่านมา
นับตั้งแต่ปี 2005 กลุ่มบริษัท DHL Group ได้ร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) โดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และเครือข่ายระดับโลกช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ในพื้นที่ภัยพิบัติ ปัจจุบัน DHL Group ได้ขยายโครงการ ‘GoHelp’ ให้ครอบคลุมยุโรปจากภัยพิบัติที่เกิดมากขึ้นในช่วงไม่นานมานี้ ด้วยการเปิดตัวโครงการ GoHelp ในยุโรป ทำให้ DHL Group ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติทั่วโลก
โดยท่าอากาศยานนานาชาติ Istanbul ในตุรกีได้จัดการฝึกอบรมสำหรับทีมรับมือภัยพิบัติ (DRT) ในยุโรปเป็นครั้งแรก โดยมีบุคลากรเข้าร่วม 50 คน โดยโครงการ GoHelp แบ่งออกเป็นการรับมือภัยพิบัติและการเตรียมพร้อมสำหรับภัยพิบัติ โดยทีม DRT จะเข้าดูแลท่าอากาศยานที่ต้องการความช่วยเหลือหลังจากได้รับแจ้งจากสำนักงาน UN สำหรับการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ โดยโครงการ Get Airports Ready for Disaster เป็นการร่วมมือกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เพื่อเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในท่าอากาศยานและหน่วยงานรับมือภัยพิบัติท้องถิ่นเพื่อบริหารจัดการสินค้าบรรเทาทุกข์
“ยุโรปเผชิญกับวิกฤตที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศเพิ่มขึ้น อาทิ อุทกภัยในเยอรมนีและเบลเยียมเมื่อปี 2021 ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อปีที่แล้ว เราได้เห็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในตุรกีและโมร็อกโก” Mr. Christoph Selig รองประธาน ฝ่าย Sustainability Communications and Programs ประจำ DHL Group กล่าว “ด้วยการตระหนักถึงเหตุการณ์เหล่านี้ เราได้ขยายความครอบคลุมและการเข้าถึงของโครงการ GoHelp ในยุโรป หลังประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการดังกล่าวตลอด 15 ปีที่ผ่านมาในละตินอเมริกา เอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา โดยการขยายโครงการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นของเราในการใช้ความเชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถร่วมมือกันได้อย่างราบรื่น”
ทั้งนี้ ทีม DRT มีหน้าที่ช่วยดำเนินกระบวนการโลจิสติกส์และเข้าช่วยเหลือท่าอากาศยานในพื้นที่ภัยพิบัติอย่างทันท่วงที โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 72 ชั่วโมง สำหรับยุโรป ขอบข่ายของการปฏิบัติการ DRT อาจขยายนอกเหนือจากปฏิบัติการในท่าอากาศยาน โดยการฝึกอบรมทีม DRT ประกอบด้วยภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยมีการฝึกอบรมหลายรูปแบบตามภูมิภาคและสถานที่จัดฝึกฝน โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามลำดับขั้นตอนและฝึกฝนเทคนิคการประกอบและรื้อพาเลทอย่างเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพาเลทในท่าอากาศยาน ล็อค และตาข่าย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการฝึกทักษะต่างๆ ที่จำเป็น อาทิ การปฏิบัติการรถฟอร์คลิฟต์ รวมถึงการสื่อสารผ่านวิทยุอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อการประสานงานได้อย่างไร้รอยต่อ
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่