ความสำเร็จในการขนส่งอวัยวะผ่านโดรน ก้าวแรกที่เปลี่ยนวงการโลจิสติกส์ไปตลอดกาล

0
4347

ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในทุกๆ วัน ทำให้มีสิ่งประดิษฐ์มากมายถือกำเนิดขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการใช้ชีวิตของมนุษย์ และหนึ่งสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับสังคมก็คือ โดรน อากาศยานไร้คนขับที่มอบสิทธิ์ในการควบคุมอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่สามารถติดกล้องถ่ายภาพหรือเครื่องมืออื่นๆ โบยบินไปในอากาศหรือเข้าไปยังพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก เพื่อเก็บภาพในมุมที่มนุษย์ทั่วไปไม่สามารถทำได้

นอกจากการใช้งานทั่วไปแล้ว โดรนยังเป็นเหมือนกับหลักไมล์ใหม่ของวงการโลจิสติกส์ เปรียบเทียบกับยานพาหนะขนส่งสินค้าแบบดั้งเดิม โดรนสามารถหลีกเลี่ยงการจราจรอันติดขัดบนท้องถนน และเข้าถึงแต่ละพื้นที่ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งจะอาจจะช่วยลดระยะเวลาการขนส่งได้อย่างน่าอัศจรรย์แม้แต่ร้านค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่ของโลกอย่าง Amazon ก็กำลังพัฒนาโปรเจ็กต์ Amazon Prime Air ซึ่งเป็นโครงการในฝัน ที่เมื่อลูกค้ากดสั่งสินค้าออนไลน์ โดรนของร้านก็จะนำสินค้าเหล่านั้นไปลงจอดยังสวนหลังบ้านของท่านทันที โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการโลจิสติกส์แบบดั้งเดิมอีกต่อไป

แต่จะเป็นอย่างไรหากโดรนสามารถขนส่งสิ่งของที่ต้องการความรวดเร็วและปลอดภัย อย่าง “อวัยวะรอการปลูกถ่าย” ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก และนั่นอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมที่ทำช่วยชีวิตนับหมื่นนับแสนในอนาคต

First Success in History

เมื่อวันที่ 26 เมษายน ปี 2019 นักวิจัยและวิศวกรจากมหาวิทยาลัย Maryland School of Medicine (UMSOM) ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัย Maryland (UMMC) สำนักงานทดสอบระบบอากาศยานไร้คนขับ (UAS Test Site) และมูลนิธิ The Living Legacy Foundation of Maryland สามารถขนย้าย “ไต” ที่รอการปลูกถ่ายด้วยอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก
โดยอวัยวะดังกล่าวถูกส่งด้วยโดรนที่ออกแบบมาเป็นพิเศษโดย UAS Test Site จากโรงพยาบาล Baltimore’s St. Agnes ไปยังศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัย Maryland ซึ่งมีระยะห่างประมาณ 4.3 กิโลเมตร โดยใช้เวลาขนส่งประมาณ 9 นาที เดินทางด้วยความสูง 121 เมตรเหนือพื้นดิน ก่อนจะทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไตให้กับ Mrs. Trina Glipsy คุณแม่ลูกสามวัย 44 ปี ที่รอการปลูกถ่ายไตมาตั้งแต่ปี 2011 ได้อย่างปลอดภัย จากความสำเร็จดังกล่าวกลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก เพราะมันอาจจะเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงการปลูกถ่ายอวัยวะของมนุษย์ไปตลอดกาล

เป็นที่ทราบกันดีว่าในการปลูกถ่ายอวัยวะแต่ละครั้ง สิ่งที่ซับซ้อนและควบคุมได้ยากที่สุดคือขั้นตอนการขนส่ง บางครั้งเจ้าหน้าที่ต้องเช่าเหมาลำเครื่องบินเพื่อขนส่งอวัยวะเพียงชิ้นเดียว หรือ บางครั้งก็ต้องรอส่งอวัยวะไปพร้อมๆ กับเที่ยวบินพาณิชย์ที่ให้บริการอยู่ในช่วงเวลานั้น หลายครั้งที่อวัยวะถูกลืมทิ้งไว้บนเครื่องบิน หรือ อาจเกิดการล่าช้า จนไม่สามารถมาถึงโรงพยาบาลได้ตามกำหนดการ

สถิติในประเทศสหรัฐอเมริกาเผยว่าในแต่ละปีมีไตประมาณ 2,700 ชิ้นไม่สามารถขนส่งไปถึงผู้รับได้ทันเวลา ทำให้ไตเหล่านั้นต้องถูกนำไปทิ้งอย่างเปล่าประโยชน์นั่นทำให้ Dr. Joseph R. Scalea จากมหาวิทยาลัย Maryland School of Medicine ได้ริเริ่มโครงการขนถ่ายอวัยวะผ่านอากาศยานไร้คนขับขึ้นมาเขาเผยว่า จุดเริ่มต้นของโครงการนี้มาจากการที่ครั้งหนึ่งเขารับหน้าที่เป็นแพทย์ผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะให้กับคนไข้รายหนึ่ง แต่กระบวนการขนส่งอวัยวะนั้นใช้เวลาถึง 29 ชั่วโมงกว่าจะมาถึงจุดหมายที่โรงพยาบาล ในฐานะแพทย์ เขารู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้การขนส่งอวัยวะทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะยิ่งการขนส่งรวดเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีต่อคนไข้มากขึ้นเท่านั้น

Unmet Needs in Transportation

หลังจากนั้น เขาจึงตั้งทีมวิจัยขึ้นมาเพื่อศึกษากระบวนการขนส่งอวัยวะอย่างจริงจัง จนพวกเขามีแนวคิดขึ้นมาว่า การใช้อากาศยานไร้คนขับหรือโดรนอาจช่วยแก้ปัญหาความล่าช้า หรือ กระบวนการที่ผิดพลาดระหว่างการขนส่งอวัยวะได้
นอกจากนี้ พวกเขายังได้พบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจมากมายในขั้นตอนการขนส่งอวัยวะแบบดั้งเดิม ยกตัวอย่างเช่น การไม่มีระบบติดตามที่อยู่ของอวัยวะในระหว่างการขนส่ง หรือ ไม่มีระบบควบคุมคุณภาพอวัยวะระหว่างการขนส่ง ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าประหลาดมาก ที่สิ่งที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์และต้องการการดูแลระดับสูงเช่นนี้ กลับไม่มีระบบพื้นฐานดังกล่าว พวกเขาจึงร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีทางการแพทย์หลายแห่ง สร้างระบบติดตามอวัยวะ Human Organ Monitoring and Quality Assurance Apparatus for Long-Distance Travel (HOMAL) ขึ้นมา

โดยระบบดังกล่าวจะบอกข้อมูลที่สำคัญอย่างเช่น อุณหภูมิ ความกดอากาศ ความสูงเหนือน้ำทะเล การสั่นสะเทือน และตำแหน่งบนโลกของอวัยวะดังกล่าวระหว่างการขนส่ง และระบบจะส่งข้อมูลเหล่านั้นไปยังสมาร์ตโฟนของคนไข้และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบว่าตอนนี้อวัยวะที่กำลังขนส่งนั้นอยู่ในขั้นตอนใด และอยู่สภาพที่พร้อมขนาดไหน

Designing of an Aircraft

นอกจากระบบติดตามอวัยวะแล้ว สิ่งที่ท้าทายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ การพัฒนาโดรนขนส่งมีขีดความสามารถเพียงพอที่จะใช้งานในโครงการนี้ผู้รับหน้าที่พัฒนาโดรนดังกล่าวคือวิศวกรจากสำนักงานทดสอบระบบอากาศยานไร้คนขับ พวกเขาต้องสร้างโดรนที่สามารถบรรทุกกล่องใส่อวัยวะ กล้องถ่ายภาพ ระบบติดตามอวัยวะ ระบบสื่อสาร และต้องสร้างโดยอ้างอิงระเบียบและข้อจำกัดของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ (FAA) ของสหรัฐอเมริกา เพื่อให้โดรนดังกล่าวสามารถนำขึ้นบินได้จริงโดยไม่ผิดกฎหมาย

อีกหนึ่งประเด็นที่ทีมวิศวกรต้องทุ่มเทความพยายามระบบรักษาความปลอดภัย เพราะการขนส่งทางอากาศเช่นนี้หากความผิดพลาดเกิดขึ้น นั่นอาจหมายถึงการสูญเสียสิ่งของที่แสนล้ำค่าอย่างอวัยวะรอการปลูกถ่ายไป และอาจทำให้คนไข้ที่รออวัยวะอยู่ต้องมีความเสี่ยงมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ทางวิศวกรออกแบบโดรนได้จึงติดตั้งใบพัดสำรอง มอเตอร์สำรอง แบตเตอรี่สำรอง และแผงจ่ายไฟสำรองเอาไว้บนโดรนดังกล่าว หากชิ้นส่วนใดเกิดความเสียหาย อุปกรณ์สำรองเหล่านี้จะเข้ามารับหน้าที่แทนในทันที และท้ายที่สุดหากโดรนเกิดการร่วงหล่นจริงๆ พวกเขาได้ติดตั้งระบบร่มชูชีพเอาไว้ เพื่อไม่ให้อวัยวะที่บรรทุกมาได้รับความเสียหาย

ก่อนจะมีการทดสอบในวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา ทางทีมวิจัยได้ทดสอบการบินของโดนมาแล้ว 44 ครั้ง เป็นเวลารวมกันทั้งหมดกว่า 700 ชั่วโมง และมีการทดลองขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ เช่น น้ำเกลือ ตัวอย่างเลือด และอื่นๆ มาแล้วนอกจากนี้ ทีมงานยังได้จำลองความเป็นไปได้ในแง่ร้ายหลากหลายรูปแบบเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาได้เตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น
แม้การทดลองขนส่งอวัยวะผ่านโดรนในครั้งนี้จะประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ท่ามกลางความโล่งอกของทีมแพทย์และวิศวกรของโครงการ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะโดรนดังกล่าวยังปฏิบัติการได้ในรัศมีไม่กี่กิโลเมตรเท่านั้น แต่ทางทีมงานเชื่อว่าการทดลองในครั้งนี้ คือการเปิดประตูสู่วิธีการใหม่ๆ และจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการรับบริจาคอวัยวะจากผู้บริจากอื่นๆ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วยในอนาคต

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้Volga-Dnepr ขยายหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ ณ อากาศยาน Leipzig/Halle
บทความถัดไปTeleport และ Gobi Partners ร่วมลงทุนใน EasyParcel
Pichanon Paoumnuaywit
tech and history geek, who enjoys hunting and photographing dark skies and milky way