สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เปิดเผยข้อมูลอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศทั่วโลกประจำเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่าความต้องการใช้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง ทว่า มีอัตราการขยายตัวที่ลดลง
โดยปริมาณความต้องการใช้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศทั่วโลก คิดเป็นตันต่อกิโลเมตร (CTK) ของเดือนตุลาคม 2020 อยู่ต่ำกว่าช่วงเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา 6.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการกระเตื้องขึ้นมาจากการหดตัวแบบปีต่อปี 7.8 เปอร์เซ็นต์ของเดือนกันยายน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการขยายตัวแบบเดือนต่อเดือน พบว่ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับในเดือนกันยายน 2020 ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ระบุว่าเศรษฐกิจการค้าโลกกำลังเริ่มมีการขยายตัวดีขึ้น
ในขณะเดียวกัน ระวางการบริการขนส่งสินค้าทางอากาศทั่วโลกคิดเป็นตันต่อกิโลเมตร (ACTK) ในเดือนตุลาคม 2020 หดตัวลง 22.6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2019 ซึ่งเป็นการหดตัวของระวางการให้บริการที่มากกว่าการหดตัวในปริมาณความต้องการใช้บริการขนส่งสินค้าถึงสี่เท่า บ่งชี้ว่าสภาวะอุตสาหกรรมยังคงมีความขาดแคลนระวางการบริการอย่างรุนแรงต่อเนื่องจากในเดือนที่ผ่านมา
ในระดับภูมิภาค ความต้องการใช้บริการมีการขยายตัวในอเมริกาเหนือและแอฟริกา คิดเป็นสัดส่วน 6.2 เปอร์เซ็นต์ และ 2.2 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ในขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ ยังคงประสบกับภาวะความต้องการใช้บริการถดถอย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
“ความต้องการใช้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศกำลังฟื้นตัว ซึ่งเราเชื่อว่าแนวโน้มอันนี้จะยังคงอยู่จนถึงไตรมาสที่สี่ ปัญหาสำคัญจึงเป็นในเรื่องของระวางการบริการ เนื่องจากพื้นที่ระวางใต้ท้องเครื่องบินโดยสาร ได้หายไปพร้อมกับเครื่องบินโดยสารจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกนำออกมาปฏิบัติการ ในขณะที่ช่วงปลายปี ซึ่งถือเป็นช่วงพีคของอุตสาหกรรมมาโดยตลอด จะยิ่งส่งผลกระทบต่อความขาดแคลนระวางการบริการ จากการที่สินค้าอีคอมเมิร์ซกว่า 80 เปอร์เซ็นต์นั้นต้องได้รับการจัดส่งทางอากาศ ช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2020 จึงน่าจะเป็นช่วงที่ความท้าทายด้านระวางการให้บริการรุนแรงที่สุด และจะยิ่งทวีความท้าทายมากยิ่งขึ้นเมื่อเริ่มมีการจัดกระจายวัคซีนสำหรับโรคระบาดที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน” Mr. Alexandre de Juniac ผู้อำนวยการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IATA กล่าว
ปริมาณความต้องการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปรับลดลง 11.6 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนตุลาคม 2020 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการหดตัว 14.6 เปอร์เซ็นต์ในเดือนกันยายน โดยระวางการบริการระหว่างประเทศยังคงหดตัวถึง 28.7 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อัตราโหลดแฟกเตอร์ในเส้นทางการบริการระหว่างประเทศยังคงบ่งชี้ถึงความต้องการใช้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศที่แข็งแกร่ง
ความต้องการใช้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศในอเมริกาเหนือมีการขยายตัว 1.3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง โดยเป็นผลจากปริมาณความต้องการใช้บริการที่แข็งแกร่งในเส้นทางการค้าเอเชีย-อเมริกาเหนือ อันเนื่องมาจากความต้องการจัดส่งสินค้าอีคอมเมิร์ซที่ผลิตในเอเชีย ในขณะที่ระวางการบริการระหว่างประเทศลดลง 16.6 เปอร์เซ็นต์
ความต้องการขนส่งสินค้าทางอากาศในยุโรปยังคงหดตัว 11.9 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยสภาวะอุตสาหกรรมดีขึ้นกว่าการหดตัว 15.6 เปอร์เซ็นต์ในเดือนกันยายน การระบาดของ COVID-19 ที่เริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้งในยุโรป ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมในภูมิภาค ในขณะที่ระวางการขนส่งมีการหดตัว 28 เปอร์เซ็นต์
ปริมาณสินค้าขนส่งทางอากาศในภูมิภาคตะวันออกกลางยังคงหดตัว 1.9 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเป็นผลจากความต้องการใช้บริการในเส้นทางการค้าแอฟริกา-ตะวันออกกลางที่ลดน้อยลง ส่วนระวางการให้บริการระหว่างประเทศลดลง 22.7 เปอร์เซ็นต์
ปริมาณสินค้าขนส่งทางอากาศในภูมิภาคลาตินอเมริกายังคงหดตัว 12.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และระวางการให้บริการระหว่างประเทศลดลง 29.1 เปอร์เซ็นต์ ส่วนความต้องการขนส่งสินค้าทางอากาศในแอฟริกายังคงขยายตัว 2.8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดือนกันยายนของปี 2019 โดยอัตราการขยายตัวที่น้อยลงนี้เป็นผลมากจาการชะลอตัวของตลาดเอเชีย-แอฟริกา ในขณะที่ระวางการให้บริการระหว่างประเทศลดลง 20.8 เปอร์เซ็นต์
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่