สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เผยข้อมูลอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ พบว่าปริมาณสินค้าต่อตันต่อกิโลเมตร (FTK) ลดลง 1.1 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปี 2018 ซึ่งนับเป็นเดือนที่ 13 ที่ปริมาณสินค้าขนส่งทางอากาศลดลงอย่างต่อเนี่อง
แม้ว่าความต้องการด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศจะลดลง แต่ก็ถือว่าภาพรวมการขนส่งในเดือนพฤศจิกายนยังดีที่สุดในรอบแปดเดือน จากอัตราการหดตัวที่น้อยที่สุดโดยเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2019 ข้อมูลการขนส่งในเดือนพฤศจิกายน สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของกิจกรรมทางธุรกิจอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่อย่างเช่น วันคนโสดในเอเชีย และ Black Friday
ในขณะที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ความต้องการด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศยังคงต้องเผชิญผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศจีน สภาวะตกต่ำลงของการค้าโลก และเศรษฐกิจโลกที่เติบโตช้า
“ปริมาณความต้องการขนส่งสินค้าทางอากาศในเดือนพฤศจิกายนหดตัวลง 1.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ยังถือว่าดีกว่าการหดตัวในเดือนตุลาคมที่สูงถึง 3.5 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง เมื่อมองว่าช่วงต้นไตรมาสที่สี่เป็นช่วงพีคของอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ หากแต่แนวโน้มการคลี่คลายความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี ทว่าเมื่อพิจารณาสภาวะตลาดการค้า ณ ปัจจุบัน ก็ถือว่าอุตสาหกรรมฯ ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก” Mr. Alexandre de Juniac อธิบดีและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ IATA กล่าว
สายการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ลาตินอเมริกา และตะวันออกกลาง ต่างได้รับผลกระทบจากการหดตัวอย่างรวดเร็วในปริมาณการเติบโตของสินค้าแบบปีต่อปีสำหรับเดือนพฤศจิกายน ส่วนสายการบินในอเมริกาเหนือได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง ในทางตรงกันข้าม สายการบินในยุโรปและแอฟริกา พบว่าปริมาณสินค้ามีการขยายตัว เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายนของปี 2018 โดยสายการบินในเอเชียแปซิฟิกต้องประสบกับความท้าทายในการหดตัวของปริมาณสินค้า 3.7 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนพฤศจิกายน 2019 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดกว่าภูมิภาคอื่นๆ ในขณะที่มีพื้นที่ระวางให้บริการเพิ่มขึ้น 1.8 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ยังคงส่งผลกระทบอย่างมากต่อภูมิภาค ด้วยความต้องการใช้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศในเส้นทางการค้าระหว่างเอเชียและอเมริกาเหนือที่หดตัวลงถึง 6.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจภูมิภาคนี้มีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่