สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เปิดเผยข้อมูลอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศทั่วโลกประจำเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยระบุว่าความต้องการใช้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศยังคงมีการขยายตัว อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขในเดือนกันยายนของปี 2019 ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอย่างมีนัยยะ
โดยปริมาณความต้องการใช้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศทั่วโลก คิดเป็นตันต่อกิโลเมตร (CTK) ของเดือนกันยายน 2020 อยู่ต่ำกว่าช่วงเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา 8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการกระเตื้องขึ้นมาจากการหดตัวแบบปีต่อปี 12.1 เปอร์เซ็นต์ของเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการขยายตัวแบบเดือนต่อเดือน พบว่ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับในเดือนสิงหาคม 2020 ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ระบุว่าเศรษฐกิจการค้าโลกกำลังเริ่มมีการขยายตัวดีขึ้น
ในขณะเดียวกัน ระวางการบริการขนส่งสินค้าทางอากาศทั่วโลกคิดเป็นตันต่อกิโลเมตร (ACTK) ในเดือนกันยายน 2020 หดตัวลง 25.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2019 ซึ่งมีการหดตัวลงมากกว่าการหดตัวในปริมาณความต้องการใช้บริการขนส่งสินค้าถึงสามเท่า หมายความว่าสภาวะอุตสาหกรรมในปัจจุบันยังคงมีความขาดแคลนระวางการบริการอย่างรุนแรง
ในระดับภูมิภาค ความต้องการใช้บริการมีการขยายตัวในอเมริกาเหนือและแอฟริกา คิดเป็นสัดส่วน 1.5 เปอร์เซ็นต์ และ 9.7 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ในขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ ยังคงประสบกับภาวะความต้องการใช้บริการถดถอย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
“ถึงแม้ว่าปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศในปี 2019 จะอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่ก็เทียบไม่ได้กับความท้าทายที่ภาคการขนส่งผู้โดยสารต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน สำหรับการขนส่งสินค้าทางอากาศนั้น ธุรกิจ 92 เปอร์เซ็นต์ยังคงทรงตัวอยู่ ในขณะที่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณผู้โดยสารกลับหายไปในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทายในเรื่องของระวางการบริการ เนื่องจากพื้นที่ระวางใต้ท้องเครื่องบินโดยสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในขณะนี้ ก็ได้หายไปพร้อมกับผู้โดยสารด้วย” Mr. Alexandre de Juniac ผู้อำนวยการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IATA กล่าว
ปริมาณความต้องการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปรับลดลง 14.6 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนกันยายน 2020 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการหดตัว 16.4 เปอร์เซ็นต์ในเดือนสิงหาคม โดยความต้องการใช้บริการในเส้นทางการค้าเอเชีย-อเมริกาเหนือ และเอเชีย-แอฟริกา มีสถานะแข็งแกร่งที่สุด ในขณะที่ระวางการบริการระหว่างประเทศยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2019 ถึง 32 เปอร์เซ็นต์
ความต้องการใช้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศในอเมริกาเหนือ ฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนภาวะวิกฤต โดยมีการขยายตัว 1.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเส้นทางการค้าเอเชีย-อเมริกาเหนือ เป็นเส้นทางที่มีปริมาณความต้องการใช้บริการแข็งแกร่งที่สุด จากความต้องการจัดส่งสินค้าอีคอมเมิร์ซที่ผลิตในเอเชีย
ความต้องการขนส่งสินค้าทางอากาศในยุโรปยังคงหดตัว 15.7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยการฟื้นตัวเป็นไปอย่างช้าๆ ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการส่งออกสินค้าที่กำลังเพิ่มขึ้น
ปริมาณสินค้าขนส่งทางอากาศในภูมิภาคตะวันออกกลางยังคงหดตัว 2.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยปรับดีขึ้นจากอัตราการหดตัว 6.7 เปอร์เซ็นต์ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สายการบินในภูมิภาคตะวันออกกลางได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มากที่สุด แต่จากความพยายามในการขยายระวางการบริการสินค้าอย่างต่อเนื่อง ก็ส่งผลให้ปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศของภูมิภาคนี้มีการฟื้นตัวในรูปแบบตัว V
ปริมาณสินค้าขนส่งทางอากาศในภูมิภาคลาตินอเมริกายังคงหดตัว 22.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อันเป็นผลจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่รุนแรงของวิกฤตโรคระบาด ในทางตรงกันข้าม ความต้องการขนส่งสินค้าทางอากาศในแอฟริกามีการขยายตัว 9.7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดือนกันยายนของปี 2019 ซึ่งถือเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ห้า
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่