JAL ร่วมศึกษาแนวทางการผลิตเชื้อเพลิงจากขยะและพลาสติก

0
1163

เนื่องจากความต้องการในบริการขนส่งสินค้าทางอากาศเพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมการบิน จึงเล็งเห็นความสำคัญในการดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง โดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้ริเริ่มโครงการจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้มีค่าเป็นศูนย์ด้วยระบบคาร์บอนเครดิต (CORSIA) ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป  

ในการนี้ Japan Airlines Co., Ltd., Marubeni Corporation, JXTG Nippon Oil & Energy Corporation, และ JGC JAPAN CORPORATION ได้ร่วมมือกันศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยานเพื่อความยั่งยืน หรือ Sustainable Aviation Fuel (SAF) ในประเทศญี่ปุ่น จากขยะอุตสาหกรรมและขยะเทศบาล ซึ่งรวมไปถึงขยะพลาสติกคุณภาพปานกลางและคุณภาพต่ำ (ซึ่งปัจจุบันกำจัดด้วยวิธีการเผาหรือฝังกลบ) โดยจะใช้ประโยชน์จากกระบวนการและเทคโนโลยีของ Fulcrum BioEnergy, Inc. บริษัทสัญชาติอเมริกันผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับอากาศยาน

ทั้งนี้ JAL, Marubeni, JXTG และ JGC ได้ร่วมลงนามความร่วมมือและบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับ Taisei Corporation และ TAKEEI CORPORATION ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยองค์กรทุกฝ่ายจะใช้ความเชี่ยวชาญของตัวเอง เพื่อร่วมกันศึกษากระบวนการเก็บรวบรวมและจัดการขยะ เทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิง SAF กระบวนการโลจิสติกส์ของเชื้อเพลิงที่ผลิตได้ รวมทั้งศึกษาผลกระทบของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านกระบวนการประเมินวัฏจักรชีวิตหรือ Life Cycle Assessment(LCA)

การศึกษาดังกล่าว จะดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงธันวาคม 2020 หลังจากนั้น ทุกฝ่ายจะนำผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษา มาพัฒนาติดตั้งเครื่องยนต์พลังงานชีวภาพขั้นทดสอบ และเริ่มทดลองใช้งานในช่วงต้นทศวรรษปี 2020 ก่อนที่จะเริ่มพัฒนาอุปกรณ์ในเชิงพาณิชย์ในปี 2025

อนึ่ง ในปัจจุบัน เชื้อเพลิง SAF ได้รับการพิจารณาให้เป็นแนวทางสำหรับพลังงานทดแทน ที่สามารถนำมาใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้จริง โดยมีแนวโน้มการปรับใช้งานอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนั้น การย่อยสลายหรือการจัดการขยะพลาสติกก็เป็นปัญหาทางสังคมที่ได้รับการจับตามอง ซึ่งกำลังรอคอยนวัตกรรมที่จะมาบริหารจัดการเพื่อสังคมที่ยั่งยืน

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้IATA ย้ำ การขนส่งทางอากาศคือปัจจัยสำคัญในศึก COVID-19
บทความถัดไปWFS ร่วมสนับสนุนปฏิบัติการต้าน COVID-19 ในอิตาลี