สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เผยข้อมูลอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศทั่วโลกประจำเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 โดยระบุว่าการชะงักของซัพพลายเชนและข้อจำกัดด้านระวางการบริการส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการขนส่งสินค้าทางอากาศ ในขณะที่สภาพเศรษฐกิจยังคงเกื้อหนุนต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม
โดยปริมาณความต้องการใช้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศทั่วโลก คิดเป็นตันต่อกิโลเมตร (CTK) ของเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปี 2019 ซึ่งเป็นการเติบโตที่ต่ำกว่าอัตราการขยายตัว 8.2 เปอร์เซ็นต์ของเดือนตุลาคม ปี 2021 อย่างมีนัยสำคัญ รวมไปถึงช่วงเดือนก่อนหน้านั้นด้วย ในขณะที่สภาพเศรษฐกิจยังคงสนับสนุนการเติบโตของปริมาณสินค้าขนส่งทางอากาศ ทว่าการชะงักของซัพพลายเชนกลับกลายเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตดังกล่าว โดยมีปัจจัยประกอบต่างๆ อาทิ
- การขาดแคลนแรงงาน อันเนื่องมาจากมาตรการการกักตัวเนื่องด้วยโรค COVID-19 รวมไปถึงการขาดแคลนพื้นที่จัดเก็บสินค้าในท่าอากาศยานบางแห่ง และปริมาณสินค้ารอจัดส่งที่สะสมตัวจากช่วงปลายปีที่มีการรีบเร่งสั่งซื้อสินค้า โดยเฉพาะในท่าอากาศยานหลักหลายแห่ง อาทิ ท่าอากาศยาน New York-JFK, Los Angeles และ Amsterdam Schiphol
- การค้าปลีกของสหรัฐอเมริกาและจีนที่ยังคงแข็งแกร่ง
- การขยายตัวของการค้าโลกถึง 4.6 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนตุลาคม ปี 2021
- อัตราส่วนสินค้าคงคลังต่อยอดขาย (I/S Ratio) ที่ต่ำ ส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้าต้องเร่งจัดส่งสินค้าและหันมาใช้บริการขนส่งทางอากาศมากขึ้น
- การแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ ส่งผลให้มีความต้องการอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) เพิ่มมากขึ้นในหลายๆ ประเทศ
- ระยะเวลาการจัดส่งสินค้าที่ยาวนานกว่าเดิมอันเนื่องจากปัญหาคอขวดในระบบโลจิสติกส์
“การเติบโตของปริมาณสินค้าขนส่งทางอากาศลดลงครึ่งหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม เนื่องจากภาวะการชะงักของซัพพลายเชน โดยดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจทั้งหมดต่างระบุว่าความต้องการใช้บริการยังคงมีปริมาณมาก แต่ต้องประสบกับแรงกดดันทางด้านการขาดแคลนแรงงานและข้อจำกัดต่างๆ ของระบบโลจิสติกส์ ซึ่งส่งผลให้สูญเสียโอกาสด้านการเติบโต ยกตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตสินค้าไม่สามารถส่งสินค้าที่จำเป็นออกไปยังปลายทางที่ต้องการได้ ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์ PPE ด้วย โดยภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อลดแรงกดดันต่อซัพพลายเชนทั่วโลก ก่อนที่เรื่องนี้จะกลายมาเป็นปัญหาเรื้อรังที่กีดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากวิกฤต COVID-19” Mr. Willie Walsh ผู้อำนวยการใหญ่ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ กล่าว
ในระดับภูมิภาค ปริมาณความต้องการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปรับเพิ่มขึ้น 5.2 เปอร์เซ็นต์ ในพฤศจิกายน ปี 2021 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2019 โดยพื้นที่ระวางสินค้าสำหรับการขนส่งระหว่างประเทศยังคงหดตัว 9.5 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับเดือนพฤศจิกายน ปี 2019
ความต้องการใช้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศในอเมริกาเหนือมีการขยายตัว 11.4 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2019 ในขณะที่พื้นที่ระวางสินค้าสำหรับการขนส่งระหว่างประเทศลดลง 0.1 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับเดือนพฤศจิกายน ปี 2019
ความต้องการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศในยุโรปขยายตัว 0.3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2019 ทั้งนี้เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม ปี 2021 พบว่ามีการหดตัวถึง 7.1 เปอร์เซ็นต์ อันเป็นผลจากความแออัดของซัพพลายเชนและข้อจำกัดด้านพื้นที่ระวางสินค้าสำหรับการขนส่งภายในภูมิภาค ในขณะที่พื้นที่ระวางสำหรับการขนส่งระหว่างประเทศมีการหดตัว 9.9 เปอร์เซ็นต์
ปริมาณสินค้าขนส่งทางอากาศในภูมิภาคตะวันออกกลางขยายตัว 3.4 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม ปี 2021 ส่วนพื้นที่ระวางสำหรับการขนส่งระหว่างประเทศลดลง 9.7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ปริมาณสินค้าขนส่งทางอากาศในภูมิภาคละตินอเมริกาหดตัว 13.6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และพื้นที่ระวางสำหรับการขนส่งระหว่างประเทศลดลง 5.6 เปอร์เซ็นต์ ส่วนความต้องการขนส่งสินค้าทางอากาศในแอฟริกาขยายตัว 0.8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับเป็นการชะลอตัวอย่างมากเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่มีการเติบโตถึง 9.8 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่พื้นที่ระวางสำหรับการขนส่งระหว่างประเทศลดลง 5.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโรคระบาด
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่