ปัญหาภาวะเรือนกระจกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจและร่วมกันนำเสนอแนวทางเพื่อลดต้นตอของปัญหาเหล่านี้ โดยหนึ่งในแนวทางหลักที่หลายองค์กรและภาคอุตสาหกรรมกำลังร่วมมือกันผลักดันอย่างต่อเนื่องก็คือ การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในทางเดียวกัน ภาคอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศหลายหน่วยงาน บริษัท และสายการบิน ต่างริเริ่มนโยบายประหยัดพลังงานและหันมาเลือกใช้พลังงานทางเลือกสำหรับการปฏิบัติการขนส่งสินค้าทางอากาศที่มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยลงหรือแม้กระทั่งมีอัตราการปล่อยมลภาวะเป็นศูนย์ตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยหนึ่งในทางเลือกสำคัญที่อุตสาหกรรมฯ กำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมากก็คือ เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (SAF)

Understanding The SAF

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ได้ให้คำจำกัดความของ Sustainable Aviation Fuel (SAF) ไว้ว่า SAF เป็นเชื้อเพลิงทางการบินที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงทั่วไปที่ผลิตมาจากฟอสซิล อย่างไรก็ตาม เชื้อเพลิงดังกล่าวอาจถูกเรียกในชื่ออื่นๆ เช่น Sustainable Alternative Fuel, Sustainable Alternative Jet Fuel, Renewable Jet Fuel หรือ Biojet Fuel อีกด้วย

เชื้อเพลิง SAF สามารถผลิตขึ้นได้จากวัตถุดิบหลายชนิด ตั้งแต่น้ำมันสำหรับทำอาหาร น้ำมันพืช ของเสียจากครัวเรือน ก๊าซไอเสีย ไปจนถึงเศษวัตถุดิบจากผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น โดยวัตถุดิบเหล่านี้จะถูกนำไปแปรรูปให้กลายเป็นสารตั้งต้นสำหรับผลิตเชื้อเพลิง ซึ่งจะมีตั้งแต่ในรูปแบบของก๊าซ แอลกอฮอล์ น้ำมัน หรือน้ำตาล เป็นต้น และจะถูกนำไปแปรสภาพอีกครั้งให้กลายเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานที่มีคุณสมบัติเทียบเคียงกับเชื้อเพลิงแบบดั้งเดิม

โดยจุดเด่นที่สำคัญของเชื้อเพลิง SAF ก็คือการมีอัตรารอยเท้าคาร์บอน (Carbon footprint) ตลอดวงจรชีวิตน้อยกว่าเชื้อเพลิงอากาศยานโดยทั่วไป โดยในบางกรณี เชื้อเพลิงดังกล่าวสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงโดยปกติ และด้วยเหตุนี้ หลายธุรกิจและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศจึงหันมาให้ความสนใจในเชื้อเพลิง SAF และมีการเลือกใช้เชื้อเพลิงชนิดนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Pathways to the Mainstream

การเลือกใช้เชื้อเพลิง SAF ถือเป็นอีกกระแสที่ได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมการบิน ด้วยเหตุผลด้านการลดมลภาวะ ถึงแม้ว่าเชื้อเพลิง SAF ในปัจจุบันจะยังคงมีต้นทุนที่สูง แต่หลายภาคส่วนเองก็กำลังพยายามมองหาช่องทางในการนำเชื้อเพลิงดังกล่าวเข้ามามีส่วนร่วมกับการทำงานในองค์กรของตน

นอกจากนี้ การเติบโตของกระแสการใช้เชื้อเพลิง SAF ในการปฏิบัติการขนส่งสินค้าทางอากาศยังได้ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในหลายภาคส่วน เช่น การจับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างสายการบินกับบริษัทผู้ผลิตและ/หรือผู้จัดหาเชื้อเพลิง บริษัทผู้รับจัดการขนส่งสินค้าและสายการบิน รวมถึงการที่ทางบริษัทผู้รับจัดการขนส่งสินค้าได้นำเสนอทางเลือกการขนส่งสินค้าทางอากาศที่ยั่งยืน ผ่านทางเลือกบริการขนส่งสินค้าในเที่ยวบินที่ปฏิบัติการด้วยเชื้อเพลิง SAF อีกทั้งยังมีหน่วยงานอื่นๆ อีกหลายองค์กรที่ได้มีการผลักดันการใช้งานพลังงานเชื้อเพลิง SAF ในรูปแบบของตัวเองด้วยเช่นกัน

Challenges to Overcome

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันเชื้อเพลิง SAF จะได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่อุปสรรคที่สำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของเชื้อเพลิง SAF อย่างเต็มรูปแบบก็คือต้นทุนที่สูงกว่าเชื้อเพลิงอากาศยานแบบดั้งเดิมอย่างชัดเจน โดย IATA ได้เปิดเผยว่าเชื้อเพลิง SAF มีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าเชื้อเพลิงทั่วไปประมาณสองถึงสี่เท่า

ทว่าในขณะเดียวกัน ราคาของเชื้อเพลิงอากาศยานแบบดั้งเดิมเองในปัจจุบันก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเหตุผลจากปัจจัยทางการเมือง สิ่งแวดล้อม และปัจจัยในด้านอื่นๆ สวนทางกับแนวโน้มของเชื้อเพลิง SAF ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิตเพื่อให้มีต้นทุนที่ถูกลง ดังนั้น ช่วงเวลานี้จึงถือเป็นรอยต่อของช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญสำหรับอนาคตของเชื้อเพลิง SAF ที่จะก้าวเข้ามามีบทบาทในฐานะเชื้อเพลิงหลักในอุตสาหกรรมการบิน

นอกจากนี้ อีกหนึ่งสัญญาณที่ชัดเจนสำหรับอนาคตของเชื้อเพลิง SAF ก็คือแนวโน้มด้านความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2019 ปริมาณการผลิตเชื้อเพลิง SAF โดยรวมนั้นอยู่ที่ 25 ล้านลิตร และได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 62.5 ล้านลิตร 100 ล้านลิตร และ 300 ล้านลิตร ในปี 2020, 2021 และ 2022 ตามลำดับ

Empowering Changes

แม้แนวโน้มการใช้เชื้อเพลิง SAF จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่การผลักดันในแง่ของการผลิตเชื้อเพลิงดังกล่าวก็ยังคงต้องการการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนเพื่อให้ต้นทุนการผลิตลดลงมาอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้อย่างเต็มที่กับเชื้อเพลิงอากาศยานแบบดั้งเดิม และก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการบินอย่างเต็มตัว โดยจะเห็นได้จากความเคลื่อนไหวของ IATA เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลในแต่ละประเทศหันมาให้การสนับสนุนด้านการผลิตเชื้อเพลิง SAF อย่างเป็นรูปธรรม โดยผ่านการเพิ่มกำลังผลิตเชื้อเพลิง SAF ที่ใช้กระบวนการผลิตที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน การเร่งวิจัยและพัฒนาวิธีการผลิตใหม่ๆ รวมถึงการเพิ่มกำลังผลิตด้านการแปรรูปวัตถุดิบให้กลายเป็นสารตั้งต้น โดยคาดว่าภายในปี 2028 ทั่วโลกจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่อย่างน้อย 69,000 ล้านลิตรต่อปี

นอกเหนือจากการผลักดันจาก IATA แล้ว นโยบายจากรัฐบาลที่เป็นรูปธรรมเองก็เป็นส่วนสำคัญที่จะเพิ่มกำลังการผลิตของเชื้อเพลิง SAF ขึ้นโดยผ่านการดึงดูดนักลงทุน ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาที่มีการออกกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศอย่างยั่งยืน (Sustainable Skies Act) ซึ่งส่งผลให้ผู้ผลิตเชื้อเพลิง SAF ได้รับเครดิตภาษีจากการผลิตเชื้อเพลิงดังกล่าว

ในส่วนของภาคเอกชน การสนับสนุนด้านเงินทุนก็ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่คอยขับเคลื่อนกำลังการผลิตเชื้อเพลิง SAF ให้เพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลของ IATA พบว่าปัจจุบันมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเชื้อเพลิงแบบนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพิ่มมากขึ้นเป็นกว่า 130 โครงการ ผ่านผู้ผลิต 85 รายใน 30 ประเทศทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันการใช้งานเชื้อเพลิง SAF จะยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาและเริ่มใช้งานเพื่อทดแทนเชื้อเพลิงแบบดั้งเดิมอย่างเต็มรูปแบบ ทว่าเป้าหมายดังกล่าวจะสามารถบรรลุถึงได้โดยเร็วยิ่งขึ้นหากได้รับการผลักดันจากอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศและอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะนั่นหมายถึงก้าวย่างแห่งความสำเร็จที่สำคัญของมนุษยชาติในด้านความยั่งยืนของพลังงานโลก


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้Kuehne+Nagel ซื้อกิจการ Morgan Cargo ขยายฐานปฏิบัติการในแอฟริกาใต้
บทความถัดไปDACHSER Life Science and Healthcare รับการรับรอง GDP ในเยอรมนี สเปน และอินเดีย