ความก้าวหน้าของนวัตกรรม โดรนขนส่งสินค้า ในอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศ

0
19788
หากพูดถึงเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (UAV) เมื่อสิบปีก่อน คงเป็นหัวข้อที่ใครต่างคิดว่าเป็นไปได้ยาก แต่ปัจจุบัน เมื่อเทคโนโลยีต่างๆ ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว หลายบริษัทเริ่มมีการทดลองและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและยกระดับการปฏิบัติการของตนอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และที่เหนือกว่านั้น บางพื้นที่ได้เริ่มใช้งานเทคโนโลยีอัจฉริยะนี้ในการขนส่งสินค้าแล้ว

เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) หรือที่รู้จักกันในชื่อที่คุ้นหูว่า โดรน ถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ไม่เพียงอำนวยความสะดวก แต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้า และที่สำคัญยังเป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำไปช่วยชีวิตของผู้คนทั่วโลกได้ ด้วยข้อได้เปรียบในการเข้าถึงถิ่นทุรกันดารและพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก โดรนจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถพลิกโฉมการขนส่งสินค้าได้ ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา โดรนกลายเป็นประเด็นที่ได้รับการพูดถึงเป็นอย่างมาก และแน่นอนว่าหลายบริษัทก็ไม่รอช้าที่จะพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับของตนให้ก้าวหน้าและสามารถใช้งานได้จริง

นิตยสาร AFL ฉบับนี้ ได้รวบรวมเทคโนโลยีของโดรนขนส่งสินค้าจากบริษัทชั้นนำต่างๆ ที่อาจพลิกโฉมการขนส่งสินค้าในอนาคตให้มีความสะดวกสบายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

A Future of Air Cargo

  1. Zipline
Zipline

สินค้าทางการแพทย์ อาทิ ยารักษาโรค วัคซีน รวมไปถึงโลหิต ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยชีวิตผู้คน แต่เมื่อต้องขนส่งสินค้าประเภทนี้ไปยังพื้นที่ที่เข้าถึงยากก็ทำให้การขนส่งมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น ด้วยการตระหนักถึงความท้าทายนี้ บริษัท start-up อย่าง Zipline จึงได้พัฒนาโดรนขนส่งสินค้าอัตโนมัติเพื่อใช้ในการขนส่งโลหิต โดยได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลประเทศรวันดา และเริ่มให้บริการในรวันดาครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ปี 2016

ภายใต้การร่วมมือกันดังกล่าว Zipline ได้ตั้งศูนย์จัดเก็บโลหิตในเมืองหลวงของรวันดา โดยสามารถขนส่งโลหิตไปยังโรงพยาบาลทั้งหมด 12 แห่งในพื้นที่ โดยแพทย์ประจำโรงพยาบาลสามารถแจ้งคำร้องขอเบิกโลหิตไปยังศูนย์กระจายสินค้า จากนั้นบุคลากรประจำศูนย์ฯ จะทำบันทึกข้อมูลการแจ้งเบิกกับรัฐบาลรวันดา ทำการบรรจุโลหิตลงกล่องเก็บความเย็น และติดตั้งกับโดรนเพื่อขนส่งสินค้าไปยังที่หมาย แพทย์ที่อยู่ปลายทางจะได้รับข้อความแจ้งเตือนก่อนโดรนถึงที่หมายประมาณหนึ่งนาที เพื่อรอรับสินค้า จากนั้นโดรนจะปล่อยกล่องบรรจุโลหิตพร้อมกับร่มชูชีพ ร่อนลงถึงพื้นอย่างปลอดภัย

การจัดส่งใช้เวลาทั้งหมดราว 20 ถึง 30 นาที นับตั้งแต่แพทย์แจ้งคำร้องจนถึงเมื่อโลหิตจัดส่งถึงที่หมาย โลหิตที่ทำการจัดส่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องการโลหิตด่วนอย่างหญิงตั้งครรภ์และต้องการทำผ่าคลอดฉุกเฉิน รวมทั้งเยาวชนที่อยู่ในภาวะโลหิตจางจากโรคมาลาเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในทวีปแอฟริกา

Zipline

โดยปีที่ผ่านมา Zipline ได้ทำการขนส่งโลหิตทั้งหมด 5,500 ยูนิต และตั้งแต่เปิดให้บริการ Zipline ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินถึง 400 รายแล้ว ทั้งนี้ บุคลากรที่ปฏิบัติการยังเป็นชาวท้องถิ่นของรวันดาทั้งหมดอีกด้วย ปัจจุบัน Zipline ได้ขยายความร่วมมือกับรัฐบาลประเทศแทนซาเนีย โดยคาดว่าจะตั้งศูนย์จัดเก็บโลหิตทั้งหมดสี่แห่ง เพื่อกระจายความช่วยเหลืออย่างครอบคลุม สามารถให้บริการโรงพยาบาลในพื้นที่โดยรอบ 75 กิโลเมตร โดยจะเป็นหนึ่งในศูนย์จัดส่งสินค้าอัตโนมัติที่ใหญ่ที่สุดในโลก

2. UPS

UPS

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2017 บริษัท UPS ได้ประกาศว่า บริษัทฯ ได้ทดสอบการบินของโดรนขนส่งสินค้าอัตโนมัติสำเร็จ โดยโดรนสามารถทำการบินอัตโนมัติจากรถบรรทุกทำการขนส่งสินค้าถึงที่หมาย และบินกลับไปยังรถบรรทุกได้ โดยทำการบินเที่ยวละ 30 นาที และสามารถขนส่งสินค้าได้น้ำหนักมากที่สุดราว 4.5 กิโลกรัมต่อครั้ง

ทั้งนี้ UPS พัฒนาโดรนดังกล่าว เพื่อลดเวลาในการขนส่งสินค้า ช่วยให้บริษัทฯ ขนส่งสินค้าได้ในระยะไกลมากขึ้น และช่วยลดระยะเวลาในการเดินทาง โดยคาดว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งได้ถึง 50 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี จากการลดระยะทางที่คนขับรถต้องเดินทางในแต่ละวัน

UPS

โดย UPS ทำการทดลองบินที่ Lithia ใน Florida ด้วยการร่วมมือกับบริษัท Workhorse Group ในการพัฒนาโดรนและรถบรรทุกสำหรับการบินโดรนที่ใช้ในการทดสอบการบิน UPS ทดสอบการใช้โดรนทำการบิน เพื่อพัฒนาการขนส่งสินค้าในถิ่นทุรกันดาร เนื่องจากรถบรรทุกจำเป็นต้องเดินทางไกลเพื่อทำการขนส่ง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและใช้เวลาค่อนข้างมาก การใช้โดรนจะช่วยให้คนขับรถสามารถจัดส่งสินค้าได้ครั้งละหลายชิ้นและถึงมือผู้รับอย่างปลอดภัย โดยไม่จำเป็นต้องเข้าถึงพื้นที่นั้น

3. DHL Parcelcopter 3.0

DHL

DHL Parcel ได้ทำการพัฒนาโดรนขนส่งสินค้า โดยมีการปรับปรุงระบบอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2013 และเมื่อปี 2016 บริษัทฯ ประสบความสำเร็จ ในการทดสอบการบินของ ‘DHL Parcelcopter 3.0’ โดยโดรนรุ่นล่าสุดที่มีการพัฒนาให้สามารถเดินทางได้ไกลถึง 8.3 กิโลเมตร รองรับสินค้าได้หนักที่สุดถึง 2 กิโลกรัมหรือ 4.4 ลิตร และบินได้สูงถึง 80 เมตร

DHL Parcel ได้ทำการทดสอบการบิน DHL Parcelcopter 3.0 ทั้งหมดสามเดือน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2016 โดยทดลองที่ Reit im Winkl ใน Bavarian ในเยอรมนี ซึ่งมีสภาพอากาศค่อนข้างหนาวและมีหิมะ พื้นที่ทางภูมิศาสตร์เป็นภูเขา โดย DHL Parcel ทำการทดสอบขึ้นบินและลงจอดอัตโนมัติทั้งหมด 130 ครั้ง ซึ่งผู้ใช้บริการของ DHL ได้ทำการร่วมทดสอบการบินในครั้งนี้ด้วย โดยในการทำงาน ผู้ใช้บริการเพียงวางสินค้าที่ต้องการจัดส่งไว้ที่ DHL SkyPort ซึ่งเป็นจุดที่โดรนจะทำการขึ้นบินและลงจอดอัตโนมัติ จากนั้นโดรนจะทำการบินอัตโนมัติเอง

การทดสอบการบินในแต่ละครั้งอยู่ที่ความสูงเหนือน้ำทะเลราว 1,200 เมตร มีระยะทางการบินประมาณ 8 กิโลเมตรต่อการขนส่งหนึ่งเที่ยว โดยสินค้าที่ทำการขนส่งมีทั้งสินค้าทั่วไปและสินค้าประเภทเภสัชภัณฑ์สำหรับกรณีฉุกเฉิน ซึ่งโดรนใช้เวลาในการทำการบินขนส่งถึงสถานี Alm แปดนาทีนับตั้งแต่ขึ้นบิน รวดเร็วกว่าการขนส่งด้วยรถยนต์ในระยะทางเดียวกัน ซึ่งใช้เวลาเดินทางถึง 30 นาที ในช่วงฤดูหนาว โดย DHL Parcelcopter 3.0 ได้รับการพัฒนาให้รองรับน้ำหนักได้มากขึ้น จากรุ่นแรกที่รองรับได้เพียง 1.2 กิโลกรัม สามารถบินเหนือระดับน้ำทะเลมากขึ้น และมีความทนทาน เนื่องจากต้องทำ การบินในเขตเทือกเขา Alpine ซึ่งมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นภูเขา และมีสภาพอากาศที่หนาวเย็นและมีสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน

4. Amazon Prime Air

Amazon Prime Air

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ปี 2016 Amazon ได้ทำการทดสอบการบินโดรนในบริการ Amazon Prime Air เพื่อขนส่งสินค้าใน Cambridge สหราชอาณาจักร โดยใช้เวลาจัดส่งเพียง 13 นาที นับตั้งแต่ลูกค้ากดสั่งสินค้า โดยโดรนสามารถขนส่งสินค้าที่มีน้ำหนักมากที่สุดห้าปอนด์ ทำการบินได้มากที่สุด 30 นาทีต่อเที่ยว และเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2017 ทาง Amazon ได้ทำการทดสอบบินอัตโนมัติครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ภายในงานประชุม MARS จัดขึ้นที่ California ภายใต้การร่วมมือกับสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ (FAA)

ปัจจุบัน Amazon มีศูนย์พัฒนา Prime Air ใน สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรีย ฝรั่งเศส และอิสราเอล โดยทำการพัฒนาโดรน ตามสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน โดย Amazon Prime Air สามารถปฏิบัติงานได้ในช่วงกลางวัน ซึ่งมีแรงลมต่ำและมีวิสัยทัศน์ในการมองเห็นที่ชัดเจน แต่ยังมีข้อจำกัดหากต้องทำการบินขณะฝนตกหรือหิมะตก

5. Boeing’s eVTOL CAV

บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินชั้นนำอย่าง Boeing ได้ประกาศเมื่อวันที่ 10 มกราคม ปี 2018 ว่า บริษัทประสบความสำเร็จในการทดสอบการบินพาหนะขนส่งสินค้าไร้คนขับ โดยเป็นหุ่นต้น แบบของบริษัทฯ ภายใต้ชื่อ ‘unmanned electric verticle-takeoff-and-landing (eVTOL) cargo air vehicle (CAV) prototype’ โดยใช้เวลาในการออกแบบและสร้างในเวลาไม่ถึงสามเดือน eVTOL มีขนาดความยาว 4.57 เมตร ความกว้าง 5.49 เมตร ความสูง 1.22 เมตร มีน้ำหนัก รวม 339 กิโลกรัม โดยมีใบพัดทั้งหมดแปดใบ และใช้พลังงานแบตเตอรี่ที่ออกแบบเฉพาะ Boeing สามารถบินขึ้นและลงตามแนวดิ่งได้

โดยนักวิจัยได้ทำการพัฒนาต้นแบบโดรนเคลื่อนไหวตามแนวดิ่งให้เป็นเครื่องบินที่สามารถทำการบินได้อัตโนมัติ รองรับน้ำหนักได้สูงสุดประมาณ 227 กิโลกรัม สามารถทำการบินได้ระหว่าง 15 ถึง 30 กิโลเมตร นอกจากความมุ่งมั่นในการพัฒนาโดรนแล้ว Boeing ยังมีโครงการพัฒนาแท็กซี่ที่บินได้ รวมทั้ง Boeing ยังเป็นผู้สนับสนุนหลักในการพัฒนาเจ็ทแพ็คที่สามารถใช้งานได้จริงในโครงการแข่งขัน ‘Go Fly Prize’ โดยมีเป้าหมายในการสร้างเจ็ทแพ็คที่สามารถใช้งานได้สะดวกและใช้งานได้จริง จัดขึ้นใน Texas เมื่อปีที่ผ่านมาอีกด้วย

6. Project Wing

Project Wing โดย Alphabet

Alphabet บริษัทในเครือ Google ได้ทำการพัฒนาโดรนขนส่งสินค้า Project Wing รองรับน้ำหนักได้ 1.5 กิโลกรัม สามารถบินได้สูงถึง 120 เมตร บินได้ไกลถึง 14 กิโลเมตร โดยมีระบบวางแผนการบิน และมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ รวมทั้งซอฟต์แวร์ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและบินหลบโดรนตัวอื่นได้ขณะทำการบิน โดย Project Wing ทำการทดสอบการบินครั้งแรกที่ Queensland ในออสเตรเลีย เมื่อปี 2014 จากนั้นจึงมีการพัฒนาการออกแบบที่แล็บ X ใน California เพื่อออกแบบโดรนให้สามารถขนส่งสินค้าในถิ่นทุรกันดารได้ และเมื่อเดือนกันยายน ปี 2016 บริษัทฯ ได้ทำการบินทดสอบ และผ่านการรับรองที่ Virginia Tech University ตามระเบียบของ FAA และเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2017 ทางบริษัทฯ ได้ประกาศว่าจะทำการทดสอบการบินร่วมกับบริษัทในออสเตรเลียทั้งหมดสองราย ได้แก่ Guzmany Gomez ซึ่งเป็นร้านอาหารเม็กซิกัน และ Chemist Warehouse บริษัทในเครือเภสัชภัณฑ์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาให้โดรน สามารถขนส่งสินค้าไปยังพื้นที่เข้าถึงยาก รวมทั้งสามารถขึ้นบินได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้รันเวย์

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้ทิศทางการขนส่งสินค้าทางอากาศของไทยในปี 2018
บทความถัดไปVolga-Dnepr Group จับมือ Liege ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค
Pichanon Paoumnuaywit
tech and history geek, who enjoys hunting and photographing dark skies and milky way