หากพูดถึงการขนส่งสินค้า หลายคนอาจมองเห็นเพียงการขนย้ายสิ่งของจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งด้วยยานพาหนะ ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการโลจิสติกส์เท่านั้น แท้จริงแล้ว เบื้องหลังการเดินทางของสินค้าหนึ่งชิ้นจากประเทศต้นทางไปสู่ประเทศปลายทาง คือการดำเนินตามกฎเกณฑ์ มาตรการ และข้อบังคับที่ละเอียดอ่อนเกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออกอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สินค้าเหล่านั้นสามารถขนส่งออกนอกประเทศ และนำเข้าสู่ประเทศจุดหมายได้อย่างราบรื่น
สำหรับประเทศที่มีมาตรการความปลอดภัยเข้มงวด กระบวนการดำเนินพิธีศุลกากรและดำเนินเอกสารเกี่ยวข้องกับความมั่นคงถือเป็นเรื่องที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง หากเกิดความผิดพลาดในการดำเนินงานเพียงขั้นตอนเดียว ก็อาจสร้างปัญหาต่อเนื่องให้กับผู้ส่งสินค้าได้มากเกินคาดเดา ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายจากการขนส่งสินค้าที่ล่าช้า ค่าปรับจากหน่วยงานด้านความมั่นคง จนไปถึงการสูญเสียความเชื่อมั่นจากผู้ใช้บริการ
AFL มีโอกาสพูดคุยกับคุณวรภรณ์ ศรีกลัดไกร ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการขนส่งสินค้าทางอากาศ บริษัท Kerry-Apex Thailand ผู้มีประสบการณ์ด้านการปฏิบัติการขนส่งสินค้าและการดำเนินเอกสารระหว่างประเทศกว่า 10 ปี มาแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินเอกสารเพื่อนำเข้าสินค้าสู่ประเทศที่มีกฎเกณฑ์เข้มงวดสูงสุดอย่างสหรัฐอเมริกา
ความซับซ้อนที่เกิดจากความจำเป็น
สำหรับประเทศที่มีการนำเข้าสินค้าปริมาณมาก การทราบถึงจำนวนสินค้าที่ไหลเข้าสู่ประเทศ ตลอดจนที่มาและแหล่งผลิตของสินค้านั้น ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งต่อการจัดการนำเข้าสินค้าอย่างเป็นระบบ และค้นหาปัจจัยเสี่ยงของสินค้านั้นๆ เพื่อให้การนำเข้าสินค้าทุกชิ้นเป็นไปอย่างปลอดภัยและได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้อง
“เมื่อพูดถึงการนำเข้าสินค้าสู่สหรัฐฯ ผู้ส่งสินค้าทุกรายจะต้องยื่นข้อมูลตามกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยให้แก่หน่วยงานศุลกากรสหรัฐฯ หรือ US Customs and Border Protection (CBP) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบข้อมูลได้อย่างครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นระบบ ประกอบด้วย Automated Manifest System (AMS) สำหรับการขนส่งสินค้าทุกโหมดการขนส่ง และ Importer Security Filing (ISF 10+2) สำหรับการขนส่งสินค้าทางทะเล” คุณวรภรณ์กล่าว
“กระบวนการส่งข้อมูลทั้ง AMS และ ISF จะต้องดำเนินการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Data Interface: EDI โดย Kerry-Apex มี Global System ที่สามารถส่งข้อมูล EDI โดยตรงจากประเทศต้นทางไปยังศุลกากรสหรัฐฯ ทั้งบนระบบ AMS & ISF”
AMS สำคัญอย่างไรต่อการส่งสินค้าไปยัง USA?
AMS หรือ Automated Manifest System คือเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งระบุรายละเอียดของสินค้าเพื่อยื่นแก่ศุลกากรสหรัฐฯ โดยเปิดรับการส่งข้อมูล 48 ชั่วโมง ก่อนที่อากาศยานจะลงจอดที่ท่าอากาศยานต้นทาง โดยตัวแทนผู้ส่งสินค้าต้องส่งข้อมูลภายใน 24 ชั่วโมงก่อนอากาศยานขนส่งสินค้าออกเดินทางจากท่าอากาศยานต้นทางมายังท่าอากาศยานปลายทางในสหรัฐฯ
ที่มาของมาตรการด้านความปลอดภัยในการนำเข้าสินค้าสู่สหรัฐฯ เกิดขึ้นหลังจากเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 หรือ 9/11 ส่งผลให้หน่วยงานความมั่นคงของศุลกากรสหรัฐฯ ออกมาตรการให้ผู้ส่งสินค้าสำแดงสินค้าทั้งหมดที่นำเข้ามายังสหรัฐฯ รวมถึงสินค้าข้ามพรมแดนผ่านสหรัฐฯ ไปยังประเทศที่สาม ด้วยการยื่นข้อมูลบนระบบ AMS โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม ปี 2002 เป็นต้นมา
ข้อมูลที่ต้องระบุใน AMS
ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสินค้า
- หมายเลข Air Way Bill
- รหัส Standard Carrier Alpha Code (SCAC)
- พิกัดอัตราศุลกากรของสหรัฐฯ (HTSUS Code)
- ข้อมูลจำเพาะเกี่ยวกับสินค้าครอบคลุมถึง น้ำหนัก ขนาด จำนวน ประเภทสินค้า
- รหัสและประเภทของบรรจุภัณฑ์ชั้นนอกและชั้นใน
ข้อมูลเกี่ยวกับการขนส่งสินค้า
- ชื่อ ที่อยู่ ผู้นำเข้า-ส่งออกสินค้า และประเทศที่ออกเอกสาร
- ชื่อ รหัสอากาศยาน ประเทศจดทะเบียนอากาศยาน
- ชื่อท่าอากาศยานต้นทาง และท่าอากาศยานต่างประเทศที่สายการบินได้รับสิทธิ์เป็นผู้ถือครองสินค้า พร้อมเวลาเครื่องออก (ETD)
- ชื่อท่าอากาศยานที่อากาศยานขนส่งสินค้าเข้าแวะในต่างประเทศก่อนมาถึงท่าอากาศยานสหรัฐฯ
- ชื่อท่าอากาศยานที่ลงจอดในสหรัฐฯ พร้อมวันที่ลงจอด
การยื่น AMS ที่ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนดสำคัญอย่างไร?
“หากยื่น AMS ไม่ถูกต้อง ไม่สมบูรณ์ หรือเลยกำหนดเวลา จะเกิดค่าปรับอย่างน้อย 5,000 เหรียญสหรัฐ หรือหากเปลี่ยนแปลงข้อมูลประเภทสินค้า ชื่อผู้ส่งออก ชื่อผู้รับสินค้า ก็อาจมีค่าปรับเพิ่มอีก 5,000 เหรียญสหรัฐ นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายจากค่าธรรมเนียมการแก้ไขข้อมูล ผลกระทบเหล่านี้จะทำให้การขนส่งสินค้าล่าช้า” คุณวรภรณ์กล่าว
ด้วยเหตุนี้ ตัวแทนผู้ส่งสินค้าหลายรายจึงนำเสนอบริการดำเนินเอกสารและพิธีศุลกากรให้แก่ผู้ส่งสินค้าอยู่เสมอ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถมั่นใจได้ว่าสินค้าจะเดินทางไปถึงจุดหมายอย่างราบรื่นและปลอดภัย ภายใต้การดูแลปฏิบัติการโดยผู้เชี่ยวชาญ
“Kerry-Apex Thailand มีประสบการณ์ขนส่งสินค้าสหรัฐฯ มากว่า 10 ปี และมีความเชี่ยวชาญด้านการดำเนินพิธีศุลกากรและดำเนินการตามกฎเกณฑ์การขนส่งต่างๆ เมื่อส่งมอบอำนาจการยื่นข้อมูลต่อศุลกากรสหรัฐฯ ให้เราดูแลรับผิดชอบ ลูกค้าสามารถมั่นใจได้ว่าการนำเข้าสินค้าในท่าอากาศยานปลายทางจะเป็นไปอย่างราบรื่น” คุณวรภรณ์กล่าว
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่