วิเคราะห์อนาคตใหม่ของ Freight Forwarder ในยุคดิจิทัล

0
2521

บริษัทผู้รับจัดการขนส่งสินค้าถือเป็นธุรกิจที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อซัพพลายเชนการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ อย่างไรก็ตาม ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจนี้กลับต้องเผชิญกับปัญหาด้านประสิทธิภาพการดำเนินการจนในที่สุด ระบบดิจิทัลก็ได้เข้ามาเป็นกุญแจสำคัญที่สามารถตอบโจทย์ในประเด็นนี้ เราจะเห็นได้ว่าเมื่อโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เปิดใจยอมรับระบบดิจิทัลเข้ามาใช้งานและการร่วมมือกันของแพลตฟอร์มเทคโนโลยีต่างๆ จะเปิดโอกาสครั้งใหญ่ให้กับบริษัทผู้รับจัดการขนส่งสินค้าได้เป็นอย่างมาก

แม้ว่าระบบดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทต่อธุรกิจต่างๆ มากขึ้น แต่ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ บริษัทผู้รับจัดการขนส่งสินค้ายังคงต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ อย่างไม่ขาดสาย กระทั่งในปัจจุบันลูกค้ายังคงต้องรอเป็นเวลาหลายวัน กว่าจะได้รับการยืนยันอัตราค่าบริการหรือผลการจองพื้นที่ระวางผ่านโทรศัพท์หรืออีเมล จากการศึกษาล่าสุดของ Freightos ผู้ให้บริการด้านการขนส่งสินค้าในตลาดออนไลน์ เผยให้เห็นว่าผู้ส่งออกต้องรอใบเสนอราคาจากบริษัทผู้รับจัดการขนส่งสินค้านานสูงสุดถึง 100 ชั่วโมง และจากจำนวน 5 ใน 20 รายของบริษัทผู้รับจัดการขนส่งสินค้าเลือกใช้วิธีการส่งอีเมลตอบกลับอัตโนมัติ ขณะที่มีผู้ให้บริการเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ส่งใบเสนอราคาให้ลูกค้าได้ทันที แน่นอนว่าจากข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีสำหรับบริษัทผู้รับจัดการขนส่งสินค้าซึ่งให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล (digital forwarder) ที่สามารถส่งใบเสนอสินค้าให้ลูกค้าได้ภายในไม่กี่วินาที และยังสามารถจองพื้นที่ระวางได้อย่างง่ายดายเพียงปลายนิ้วสัมผัส

นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาอื่นที่พบว่า digital forwarder ที่ไม่มีฐานปฏิบัติการหรือบริการขนส่งเป็นของตัวเองนั้นยังสามารถเลือกที่จะสร้างทีมปฏิบัติการขึ้นเอง หรือไม่ก็ร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทผู้รับจัดการขนส่งสินค้าที่มีระบบปฏิบัติการอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทจะมีการลงทุนหลายพันล้านเหรียญสหรัฐไปกับระบบ digital forwarder แต่พวกเขาก็ไม่สามารถเข้าครองตลาดได้แบบเบ็ดเสร็จ ขณะเดียวกันบริษัทผู้รับจัดการขนส่งสินค้าแบบดั้งเดิมที่หันมาใช้ระบบดิจิทัลและโซลูชั่นดิจิทัล ก็อาจจะยังทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ หากพื้นที่ระวางสินค้าในตลาดยังคงมีจำกัด รวมไปถึงข้อตกลงด้านการจองพื้นที่ระวางล่วงหน้า

Blockchain Tech

ทุกวันนี้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีมูลค่าทางธุรกิจในแต่ละส่วนของซัพพลายเชนอยู่อย่างมหาศาล ซึ่งเป็นผลมาจากการแยกภาคส่วนธุรกิจในการให้บริการและลักษณะการแข่งขันในอุตสาหกรรม นอกเหนือจากลักษณะการแข่งขันดังกล่าว ห่วงโซ่แห่งคุณค่า (value chain) หลายส่วนก็ยังคงใช้กระบวนการดำเนินงานแบบพึ่งพาแรงงาน ซึ่งทำให้ขาดประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้นำไปสู่ความไม่ชัดเจนและยากที่จะติดตามสถานะชิปเมนท์ เพราะสินค้าถูกเคลื่อนย้ายไปตามซัพพลายเชน และในที่สุดก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการค้าในระดับโลก

สำหรับธุรกิจการรับจัดการขนส่งสินค้านั้นยังคงประกอบไปด้วยหลายภาคส่วนที่ไม่ได้เชื่อมต่อถึงกัน ทุกฝ่ายต่างใช้ระบบและวิธีการที่แตกต่างกัน และบ่อยครั้งก็ยังคงใช้ระบบและวิธีการที่ล้าสมัยในการแลกเปลี่ยนข้อมูล จึงทำให้ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มอันทันสมัยเพียงน้อยนิดที่จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมโลจิสติกส์ระดับโลกจริงๆ

Blockchain เป็นเทคโนโลยีการกระจายข้อมูลด้านการบัญชีที่สามารถบันทึกหลักฐานการดำเนินธุรกรรมระหว่างองค์กรหรือบุคคลที่มีความปลอดภัยและยั่งยืน เนื่องจากข้อมูลที่ปรากฎอยู่บน blockchain ทั้งหมดจะมีการลงบันทึกวันเวลาที่แน่ชัด ทำให้ไม่สามารถดัดแปลงหรือปลอมแปลงได้ อีกทั้งยังสามารถระบุตัวตนเจ้าของธุรกรรมการเงินนั้นๆ ได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ข้อมูลบน blockchain จะเป็นข้อมูลสาธารณะที่ผู้ได้รับอนุญาต สามารถเข้าถึงและอัพเดตข้อมูลได้อย่างง่ายดาย แต่กลับไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้ใดจะเจาะเข้าสู่ระบบเพื่อโจรกรรมหรือดัดแปลงข้อมูล เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้มีการจัดเก็บอยู่ในคอมพิวเตอร์หลายเครื่องและมีการสำเนาข้อมูลไว้บนระบบที่เชื่อมโยงถึงกันได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

ทั้งนี้ เทคโนโลยี blockchain ในซัพพลายเชนได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อจัดการบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง และลบล้างปัญหาด้านความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าเทคโนโลยีนี้จะเป็นยาครอบจักรวาลที่สามารถอุดช่องโหว่ของอุตสาหกรรมฯ ได้ทั้งหมด เพราะ blockchain ยังมีปัญหาสำคัญอยู่สองประการ ประการแรกคือ blockchain ยังคงขัดกับกฎหมายข้อมูลใหม่ อย่างร่างกฎหมายให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคฉบับใหม่ของ EU หรือ GDPR ประการที่สองคือทุกคนในซัพพลายเชนต้องยอมรับและนำเอาเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้งาน

นอกเหนือจากนั้น การจะนำ blockchain เข้ามาปรับใช้งานจนกลายเป็นเทคโนโลยีหลักในอุตสาหกรรมฯ ก็ยังคงมีความท้าทายไม่น้อย โดยขณะนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา และแม้หลายบริษัทในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จะเริ่มนำ blockchain เข้ามาทดลองใช้งานแล้ว แต่การจะนำ blockchain เข้ามาใช้งานอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมฯ นั้นนับเป็นก้าวที่ยากที่สุด และจะวัดได้ว่าเทคโนโลยี blockchain นี้ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์หรือไม่

ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งคือการพัฒนามาตรฐานและวิธีควบคุมการใช้งาน blockchain ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่สำคัญมากในอุตสาหกรรมฯ เนื่องจากซัพพลายเชนทั่วโลกมีความซับซ้อนและหลากหลาย ดังนั้น การจะนำเทคโนโลยี blockchain เข้ามาใช้งานอย่างสมบูรณ์จะต้องอาศัยแนวคิดร่วมกันกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

Growing Channels

อย่างไรก็ตาม แนวความคิดที่จะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ยังไม่ถูกล้มเลิก สายการบินต่างๆ เองก็กำลังสร้างและปรับปรุงช่องทางดิจิทัลเพื่อให้บริการลูกค้ารายย่อยโดยตรงและมุ่งมั่นที่จะนำระบบนี้มาใช้ แต่ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ยังเน้นการให้ความสำคัญกับธุรกิจหลักมากกว่า ซึ่งตรงกันข้ามเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางทะเลที่ให้ความสำคัญกับการใช้ระบบดิจิทัลน้อยกว่า แต่พวกเขาก็พร้อมที่จะนำเทคโนโลยีนี้เข้าไปใช้ในภาคส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขนส่งสินค้าและภาคการขนส่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทางทะเล

อย่างไรก็ดี เรายังคงเห็นถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของปริมาณพื้นที่ระวางสินค้าใต้ท้องเครื่องและกองบินขนส่งสินค้าที่ทันสมัย ซึ่งจะทำให้การขนส่งสินค้าทั่วไปมีความกดดันด้านราคาสูงขึ้นถึง 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า รายได้เกือบทั้งหมดอาจลดลง แม้ว่าปริมาณการขนส่งสินค้าจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสิ่งนี้อาจเป็นแรงผลักดันให้สายการบินต้องหารายได้จากทางอื่นเพิ่มเติม

ด้วยเหตุนี้ การนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้จึงถือเป็นกุญแจสำคัญในการจัดการกับแรงกดดันด้านราคา เพราะระบบดิจิทัลและการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์จะช่วยให้สามารถตอบสนองและเห็นภาพรวมได้เร็วขึ้นและสมบูรณ์มากขึ้น ผ่านข้อมูลที่พวกเขามีอยู่ อีกทั้งยังช่วยในการคาดการณ์ได้อีกด้วย นั่นจึงแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีระบบดิจิทัลมีประโยชน์เป็นอย่างมากในแง่ของความยืดหยุ่นและแรงกดดันด้านราคา

ยิ่งไปกว่านั้น สายการบินจำเป็นต้องขยายหลักการบริหารรายได้จากภาคส่วนบริการผู้โดยสารไปเป็นการขนส่งสินค้าทางอากาศ ด้วยเหตุนี้ สายการบินบางแห่งจึงเริ่มให้บริการลูกค้าที่เป็นบริษัทผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมากขึ้น โดยให้การเข้าถึงแพลตฟอร์มที่ใช้ขายพื้นที่ระวางที่มาพร้อมราคาแบบยืดหยุ่น โดยจะสามารถจองพื้นที่ได้ภายในไม่กี่วันก่อนที่เครื่องบินจะออกเดินทาง

นอกจากนี้ ระบบดิจิทัลยังช่วยให้ผู้ส่งสินค้าสามารถทำการจองพื้นที่ระวางสินค้ากับบริษัทผู้รับจัดการขนส่งสินค้าได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่แล้ว การขนส่งสินค้าสำหรับผู้ส่งสินค้ารายใหญ่นั้นจะมีการทำสัญญาที่ผูกพันหลายปีเพราะพวกเขารู้ว่าความต้องการของผู้จัดส่งคุ้มค่ากับอัตราค่าขนส่ง แต่ก็ตามมาด้วยความต้องการบริการที่ซับซ้อน

แม้ว่าในปัจจุบัน เราจะยังต้องพัฒนาเรื่องของมาตรฐานต่อไป แต่ก็ไม่ควรเริ่มเตรียมตัวช้า ธุรกิจจะต้องเดินไปข้างหน้าเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เหล่าบริษัทชั้นนำขนาดใหญ่กำลังเริ่มหาแนวคิดและทดสอบเทคโนโลยีนี้ในแง่มุมต่างๆ โดยจะเห็นได้ว่า บริษัทต่างๆ ทั่วโลกได้เริ่มกระบวนการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง อย่างน้อยที่สุดควรเริ่มหาความรู้เกี่ยวกับ blockchain และเทคโนโลยีใหม่อื่นๆ ที่จะมีผลกระทบต่อธุรกิจ และเริ่มวางแผนที่จะนำมาปรับใช้เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากนวัตกรรมที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมฯ

สุดท้ายนี้ แม้ blockchain และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องดูเหมือนจะถูกพูดถึงในแนวชวนเชื่อ แต่ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าบริษัทผู้รับจัดการขนส่งสินค้าและอุตสาหกรรมโลจิสติกส์กำลังก้าวไปสู่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งแปลว่าเกิดการทบทวน กระบวนการเก่าๆ ในยุคดิจิทัล และ แม้จะยังมีความท้าทาย ปัญหา และความเปลี่ยนแปลงอีกมากมายที่ต้องผ่านไปให้ได้ แต่การร่วมมือร่วมใจกันก็สามารถสร้างรากฐานที่มั่นคงในการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในอุตสาหกรรมฯ ได้

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้Freshport Asia ชูโซลูชั่นการห่อคลุมที่มีความหลากหลายและตอบสนองทุกความต้องการ
บทความถัดไป5 อันดับโครงการขนส่งดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศที่น่าสนใจในปี 2018
Pichanon Paoumnuaywit
tech and history geek, who enjoys hunting and photographing dark skies and milky way