5 อันดับโครงการขนส่งดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศที่น่าสนใจในปี 2018

0
5182

ธุรกิจการขนส่งดาวเทียมและอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีอวกาศเป็นธุรกิจโลจิสติกส์ที่มีความท้าทายสูง เนื่องจากชิ้นส่วน เครื่องมือ และอุปกรณ์ สำหรับดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศต่างๆ ล้วนเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง อีกทั้งยังมีความอ่อนไหวต่ออุณหภูมิและแรงกระแทก ดังนั้น การจัดการขนส่งอุปกรณ์ดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศ จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลและจัดการขนส่งโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพราะหากเกิดความผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจนำมาซึ่งความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อสินค้าที่มีมูลค่าสูงเหล่านี้

นิตยสาร AFL ได้คัดเลือกสุดยอดโครงการขนส่งดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศ 5 โครงการ ที่มีลักษณะพิเศษและมีความท้าทายสูงในปี 2018 เรามาดูกันว่าในปีที่ผ่านมามีโครงการขนส่งดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศที่น่าสนใจอะไรบ้าง

1.โครงการขนส่งดาวเทียม ‘KhalifaSat’ ปฏิบัติการโดย: สายการบิน Emirates SkyCargo
โครงการ KhalifaSat คือโครงการดาวเทียมแห่งประวัติศาสตร์ดวงแรกที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นทั้งหมดโดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยสายการบิน Emirates SkyCargo ได้ปฏิบัติการขนส่งดาวเทียม KhalifaSat ด้วยเครื่องบินขนส่งสินค้า รุ่น Boeing 777 ซึ่งได้รับการดัดแปลงเป็นพิเศษเพื่อเข้าร่วมในปฏิบัติการขนส่งดาวเทียมในครั้งนี้ จาก Dubai ไปยังท่าอากาศยาน Incheon ในเกาหลีใต้ดาวเทียม KhalifaSat เป็นหนึ่งในดาวเทียมที่ทันสมัยมากที่สุดของโลก ที่ได้รับการออกแบบและพัฒนาขึ้นในห้องทดลองด้านเทคโนโลยีอวกาศ ที่ Mohammed Bin Rashid Space Center (MBRSC) ใน Dubai โดยโครงการ KhalifaSat เป็นโครงการดาวเทียมเพื่อการสำรวจระยะไกลที่สามารถถ่ายภาพคุณภาพสูงและส่งข้อมูลกลับมายังโลกเพื่อมอบข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการช่วยเหลือองค์กรภาครัฐและเอกชนทั่วโลก เพื่อนำไปใช้ในการตรวจสอบสภาพสิ่งแวดล้อม การบรรเทาสาธารณภัย และการวางผังเมือง

2.โครงการขนส่งดาวเทียม ‘Sentinel-5P’ ปฏิบัติการโดย: สายการบิน Volga-Dnepr
สายการบิน Volga-Dnepr ร่วมกับบริษัท Airbus Defense and Space ร่วมกันส่งมอบดาวเทียม Sentinel-5P แก่องค์การสำรวจอวกาศแห่งยุโรป (European Space Agency) โดยสายการบินฯ ได้ปฏิบัติการขนส่งดาวเทียม Sentinel-5P ที่มีน้ำหนักกว่าหกตัน ออกจากท่าอากาศยาน London Stansted (STN) ไปยังท่าอากาศยาน Arkhangelsk ในประเทศรัสเซีย ด้วยเครื่องบินขนส่งสินค้า รุ่น An-124-100 ก่อนจะดำเนินการขนส่งทางรางต่อไปยังสถานีปล่อยยาน Plesetsk Cosmodrome ของรัสเซีย

3.โครงการขนส่งยานอวกาศสำรวจดวงจันทร์ ‘SpaceIL’ ปฏิบัติการโดย: สายการบิน CAL Cargo
สายการบิน CAL Cargo ปฏิบัติการขนส่งยานอวกาศ ‘SpaceIL’ ซึ่งเป็นยานอวกาศเพื่อการสำรวจดวงจันทร์โดยเฉพาะ โดยยานอวกาศ SpaceIL เป็นยานอวกาศลำแรกของโลกที่ถูกผลิตขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง
โดยสายการบิน CAL Cargo ปฏิบัติการขนส่งยานอวกาศ SpaceIL น้ำหนักราว 600 กิโลกรัม ด้วยเครื่องบินขนส่งสินค้า รุ่น 747-400ERF ไปยังท่าอากาศยาน Cape Canaveral ในรัฐ Florida สหรัฐอเมริกา เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนส่งยานอวกาศออกไปปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์

4.โครงการขนส่งกล้องโทรทรรศน์ eROSITA X-ray ปฏิบัติการโดย: สายการบิน AirBridgeCargo (ABC)
สายการบิน AirBridgeCargo (ABC) ปฏิบัติการขนส่งกล้องโทรทรรศน์ eROSITA X-ray หนึ่งในชิ้นส่วนประกอบสำคัญของดาวเทียม Spectrum-Roentgen-Gamma (SRG) ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือกันระหว่างประเทศเยอรมนีและประเทศรัสเซีย
โดยสายการบินฯ ได้ดำเนินการขนส่งกล้องโทรทรรศน์ eROSITA X-ray จากประเทศเยอรมนีไปยังประเทศรัสเซีย ด้วยเครื่องบินขนส่งสินค้า รุ่น Boeing 747 ทั้งนี้ กล้องโทรทรรศน์ eROSITA ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อการสำรวจเอกภพและศึกษาวิวัฒนาการโครงสร้างของจักรวาลด้วยการใช้รังสีเอ็กซ์

5.โครงการขนส่งอุปกรณ์สำหรับโครงการ Space Launch System (SLS) ปฏิบัติการโดย: บริษัท Boeing
ระบบจรวดโครงการใหม่ขององค์การนาซ่า (NASA) ภายใต้โครงการ Space Launch System หรือ SLS ซึ่งเป็นโครงการยักษ์ใหญ่ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการขนส่งมนุษย์ไปยังอวกาศผ่านแคปซูลอวกาศ และหากโครงการในขั้นต้นประสบความสำเร็จองค์การนาซ่าอาจมีแนวโน้มที่จะต่อยอดการพัฒนาไปสู่การพานักบินอวกาศหรือการส่งหุ่นยนต์สำรวจไปยังดวงจันทร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ หลายๆ ฝ่ายต่างคาดการณ์ว่าโครงการ SLS จะเป็นโครงการจรวดขนาดยักษ์ที่สามารถเดินทางในระบบสุริยะได้รวดเร็วกว่าที่ผ่านมา และจรวดลำนี้อาจกลายเป็นจรวดที่มีกำลังขับเคลื่อนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์อีกด้วย
โดยตลอดโครงการ บริษัท Boeing ได้ทำหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการงานในส่วนต่างๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ พัฒนาจรวด ทดสอบยาน การจัดการขนส่งอุปกรณ์ ไปจนถึงขั้นตอนการผลิตและพัฒนาแผงควบคุม avionics ที่จะใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างดาวเทียมในอนาคต

ทั้งนี้ บริษัท Boeing ได้ปฏิบัติการขนส่งเครื่องยนต์จรวดอวกาศรุ่นใหม่ขององค์การนาซ่าที่จะใช้ในการประกอบเครื่องยนต์จรวดขนาดยักษ์ในโครงการ SLS ด้วยเครื่องบิน Super Guppy ซึ่งเป็นเครื่องบินขนส่งพิเศษขององค์การนาซ่า โดยปฏิบัติการออกจากศูนย์การบินอวกาศมาร์แชล (Marshall Space Flight Center) ใน Alabama ไปยังศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) ในรัฐ Florida สหรัฐอเมริกา

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้วิเคราะห์อนาคตใหม่ของ Freight Forwarder ในยุคดิจิทัล
บทความถัดไปIt’s Showtime! เจาะลึกเบื้องหลังการขนส่งอุปกรณ์ถ่ายทำภาพยนตร์จาก Trans Air Cargo
Pichanon Paoumnuaywit
tech and history geek, who enjoys hunting and photographing dark skies and milky way