ANA เปิดเที่ยวบินขนส่งสินค้า หนุนการค้าและเศรษฐกิจอาเซียน

0
2391

เครื่องบินขนส่งสินค้า (Freighters) ถือเป็นเครื่องมือในการขนส่งสินค้าที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกมาอย่างยาวนาน ด้วยความสามารถในการขนส่งสินค้าจำนวนมากไปยังปลายทางที่ห่างไกลได้อย่างรวดเร็วแบบที่การขนส่งสินค้ารูปแบบอื่นไม่สามารถเทียบได้ นอกจากนี้ ความยืดหยุ่นและคุณค่าของการปฏิบัติการเครื่องบินขนส่งสินค้ายังนำมาซึ่งมูลค่ามหาศาลต่ออุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ

ปัจจุบัน ปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศมากกว่าครึ่งได้รับการขนส่งด้วยเครื่องบินขนส่งสินค้า นับตั้งแต่สินค้าประเภทของสดเสียง่ายไปจนถึงสินค้ามูลค่าสูง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีความท้าทายอย่างทุกวันนี้ ฝูงเครื่องบินขนส่งสินค้าและเครือข่ายระบบขนส่งทางอากาศยิ่งดูจะเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อและช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่การค้าโลกได้เป็นอย่างดี

ด้วยเหตุนี้ All Nippon Airways (ANA) สายการบินขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น จึงตระหนักถึงประเด็นที่สำคัญนี้เป็นอย่างดี สายการบินฯ จึงได้เปิดตัวเที่ยวบินขนส่งสินค้า ซึ่งปฏิบัติการด้วยเครื่องบิน รุ่น B777F มายังตลาดการค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเครื่องบินขนส่งสินค้ารุ่นใหม่และมีขนาดใหญ่กว่าเดิมนี้จะเข้ามาเสริมทัพในการปฏิบัติการขนส่งสินค้า ร่วมกับฝูงเครื่องบินขนส่งสินค้าขนาดกลาง รุ่น B767F ที่มีอยู่เดิม เพื่อขยายโอกาสในการรองรับของตลาดผู้นำเข้า-ส่งออก โดยเฉพาะการขนส่งรถยนต์ทั้งคัน และเครื่องจักรขนาดใหญ่

AFL ได้มีโอกาสพูดคุยกับ Mr. Kosuke Sagara รองประธาน ประจำสำนักงานใหญ่ภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย เกี่ยวกับความสำคัญของการเปิดตัวเที่ยวบินใหม่ ซึ่งปฏิบัติการด้วยเครื่องบิน B777F รวมไปถึงโอกาสและสิทธิประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับจากการเปิดตัวเที่ยวบินใหม่ในครั้งนี้

Untapped Potential

แม้ว่าเครื่องบินขนส่งสินค้าจะถือเป็นภาคส่วนที่ครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางอากาศ แต่ก็ยังถือเป็นรูปแบบการขนส่งสินค้าที่ให้บริการแก่ตลาดเฉพาะกลุ่ม เนื่องจากสินค้าทั่วโลกส่วนใหญ่มักได้รับการขนส่งผ่านเรือขนส่งสินค้า อย่างไรก็ตาม แม้ส่วนแบ่งทางการตลาดของการขนส่งสินค้าโดยเครื่องบินจะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการขนส่งทางเรือ แต่เราก็ไม่สามารถประเมินมูลค่าตลาดได้จากปริมาณสินค้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เนื่องจากเรือขนส่งสินค้าเป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่และมีมูลค่าน้อยกว่า แต่การโหมดการขนส่งสินค้าทางอากาศมักจะได้รับการเอ่ยถึงในฐานะตัวเลือกหลักสำหรับการขนส่งสินค้าที่มูลค่าสูงได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย หากจะให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในตลาดประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คงต้องเจาะลึกลงไปในอุตสาหกรรมเฉพาะทาง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์

Mr. Kosuke Sagara

Mr. Sagara อธิบายให้เราฟังว่า การเปิดเที่ยวบินใหม่ซึ่งปฏิบัติการด้วยเครื่องบินขนส่งสินค้า รุ่น B777F นั้น ถือเป็นการเจาะตลาดใหม่ที่ยังไม่มีใครเข้าถึงในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ “ปัจจุบัน การปฏิบัติการเครื่องบินขนส่งสินค้าขนาดใหญ่เชื่อมระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่นยังคงมีอยู่อย่างจำกัด แต่เราเชื่อว่าในตลาดนี้ยังมีผู้นำเข้า-ส่งออกจำนวนหนึ่งมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และต้องการใช้บริการเครื่องบินขนส่งสินค้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งเครื่องบิน B777F ของเราสามารถให้บริการขนส่งสินค้าที่มีขนาดใหญ่และปริมาณมากขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งเครื่องจักรขนาดใหญ่และรถยนต์ทั้งคัน นอกเหนือจากตลาดการขนส่งในประเทศไทยและญี่ปุ่นแล้ว เรายังให้บริการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ ไปยัง Chicago, Shanghai และ Frankfurt ผ่านศูนย์กลางการขนส่งสินค้าในท่าอากาศยาน Narita”

“เมื่อเร็วๆ นี้ ตลาดการขนส่งสินค้าทางทะเลประสบปัญหาพื้นที่ระวางไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ผู้ใช้บริการจำนวนมากตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากโหมดการขนส่งทางเรือมายังโหมดการขนส่งทางอากาศ แน่นอนว่าในกรณีนี้ เครื่องบินขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ อย่าง B777F ถือเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกว่าเครื่องบินขนส่งสินค้าขนาดกลาง อย่าง B767F เนื่องจากสัดส่วนของสินค้าที่ขนส่งทางทะเลนั้นมีปริมาณมาก ดังนั้น เพื่อให้สามารถรองรับสินค้าได้มากที่สุด เครื่องบิน B777F จึงถือเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด” Mr. Sagara กล่าวเสริม

ปัจจุบัน ความต้องการใช้บริการเครื่องบินขนส่งสินค้าขนาดใหญ่กำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งผู้ส่งออกหันไปใช้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศมากขึ้น สายการบินก็ยิ่งจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและตอบรับความต้องการของลูกค้าให้ได้อย่างทันท่วงที โดย Mr. Sagara ระบุว่า เนื่องจากตลาดหลักที่สายการบิน ANA มุ่งให้บริการก็คือ การขนส่งรถยนต์ทั้งคัน และสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การปฏิบัติการด้วยเครื่องบิน B777F จึงถือเป็นเครื่องมือที่สามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

“เฉพาะในปี 2019 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตรถยนต์มากกว่าสองล้านคัน นั่นหมายความว่าไทยเป็นประเทศที่มียอดการผลิตรถยนต์มากที่สุดเป็นอันดับ 11 ของโลก แม้ว่ารถยนต์ส่วนใหญ่จะได้รับการส่งออกผ่านโหมดการขนส่งทางทะเล แต่ปัจจุบันเราพบว่าบริษัทผู้ผลิตได้หันมาส่งรถยนต์ผ่านโหมดขนส่งทางอากาศมากขึ้น เพื่อให้ทันต่อความต้องการในการขนส่ง นอกจากนี้ ในตลาดสำคัญอย่างประเทศไทยนั้นมักจะมีความต้องการด้านเครื่องบินขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับสินค้าเหล่านี้อยู่เสมอ ดังนั้น สายการบิน ANA จึงมุ่งมั่นลงทุนตอบสนองความต้องการของตลาดผ่านการปฏิบัติการเครื่องบินขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดในฝูงบินของ ANA เพื่อรองรับความต้องการในอุตสาหกรรมฯ ที่สำคัญนี้ ยิ่งไปกว่านั้น เที่ยวบินขนส่งสินค้าของเราไม่เพียงให้บริการไปยังประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังสามารถปฏิบัติการขนส่งสินค้าไปยังยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดที่มีความต้องการสินค้าที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์อย่างต่อเนื่องด้วย”

นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 สายการบินทั่วโลกต่างมีการลดความถี่ของเที่ยวบินลง แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มมีการฟื้นตัว สายการบิน ANA ได้กลับมาให้บริการเที่ยวบินไปยัง 12 ปลายทาง ในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย จากทั้งหมด 14 ปลายทางที่สายการบินฯ เคยให้บริการ

Expanding Possibilities

แม้ว่า ANA จะเร่งยกระดับการให้บริการด้วยเครื่องบิน B777F แต่สายการบินฯ ยังคงเดินหน้าปฏิบัติการเครื่องบินขนส่งสินค้าขนาดกลาง อย่าง B767F ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า ซึ่งความยืดหยุ่นนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ ANA ประสบความสำเร็จในการให้บริการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ด้วยที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างสหรัฐอเมริกาและทวีปเอเชีย ซึ่งถือเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางอากาศที่สำคัญ ยังจะช่วยให้ลูกค้าของ ANA ได้รับโอกาสทางการค้าที่กว้างขวางยิ่งขึ้น ดังนั้น สายการบินฯ จึงเดินหน้าอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่ต้องการขนส่งสินค้าต่างๆ ทั้งสินค้าขนาดใหญ่และขนาดเล็ก อาทิ semiconductor โทรศัพท์มือถือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และฮาร์ดดิสก์ เป็นต้น

ด้วยอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจ e-commerce ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่กำลังพลิกโฉมธุรกิจค้าปลีกทั่วโลก ได้ทำให้ปัจจุบันการขนส่งสินค้าทางอากาศกลายเป็นรูปแบบการขนส่งที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ทั้งด้านความรวดเร็วและความปลอดภัยในการขนส่ง อีกทั้ง การใช้บริการเครื่องบินขนส่งสินค้ายังถือเป็นรูปแบบการขนส่งสำคัญที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายการขนส่งแบบ door-to-door ซึ่งเป็นบริการขนส่งสินค้าจากต้นทางไปจนถึงผู้รับปลายทางโดยตรง

ทั้งนี้ ข้อมูลจากบริษัท Boeing ระบุว่าตลอดช่วงสองทศวรรษข้างหน้า สัดส่วนการขนส่งสินค้าทางอากาศมากกว่าครึ่งจะยังคงปฏิบัติการผ่านเครื่องบินขนส่งสินค้าอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศยังมีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัวภายในปี 2035 และฝูงเครื่องบินขนส่งสินค้าทั่วโลกจะขยายตัวขึ้นอีกกว่า 70 เปอร์เซ็นต์

จากการคาดการณ์การเติบโตที่มีความแข็งแกร่งนี้ สายการบิน ANA จึงเลือกที่จะลงทุนกับเครื่องบินขนส่งสินค้า ด้วยความเชื่อมั่นว่าลูกค้าจะขยายสัดส่วนการขนส่งสินค้ามาใช้บริการเครื่องบินขนส่งสินค้ามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากประโยชน์ต่างๆ ที่ลูกค้าจะได้รับจากการใช้บริการเครื่องบินขนส่งสินค้าเหล่านี้

Japan Quality

ANA ระบุว่าสายการบินฯ มีข้อได้เปรียบในตลาดด้วยการเป็นสายการบินที่มีฝูงเครื่องบินให้บริการในตลาดเอเชียตะยันออกเฉียงใต้เป็นจำนวนมาก ทั้งเครื่องบินขนส่งสินค้าและเครื่องบินผู้โดยสาร ยิ่งไปกว่านั้น Mr. Sagara ยังได้ระบุว่าสิ่งที่ทำให้บริการของ ANA เหนือกว่าผู้ให้บริการรายอื่น    ก็คือการมี ‘Japan quality’ หรือมาตรฐานญี่ปุ่น

“นับตั้งแต่ขั้นตอนการจองพื้นที่ระวาง รับสินค้า ไปจนถึงการส่งมอบสินค้า เราให้บริการด้วย ‘มาตรฐานญี่ปุ่น’ ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องของความจริงใจ อ่อนน้อม และสุภาพเสมอ เรามุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อความเป็นเลิศ และร่วมมือกันเป็นหนึ่งเพื่อให้มั่นใจว่าการปฏิบัติการขนส่งสินค้าจะเป็นไปอย่างปลอดภัยและตรงต่อเวลาในทุกสถานการณ์ แม้ว่าจะประสบกับความท้าทายหรืออุปสรรคใดๆ ก็ตาม เราไม่เคยย่อท้อ เพราะความทุ่มเทต่อการให้บริการถือเป็นทักษะพื้นฐานและงานฝีมือของเรา” Mr. Sagara กล่าว

“ผมต้องขอขอบคุณเพื่อนร่วมงาน บริษัทคู่สัญญา และพันธมิตรทางธุรกิจทุกท่าน ที่มุ่งมั่นทำงาน เป็นหน้าด่านรับมือกับความท้าทายต่างๆ อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย เพื่อรักษามาตรฐานการปฏิบัติการที่น่าเชื่อถือและพันธกิจต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าการจัดการซัพพลายเชนทั่วโลกจะเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

ความโดดเด่นที่เป็นลักษณะเฉพาะของแบรนด์ ANA คือสิ่งที่เราอยากให้ลูกค้าได้สัมผัส ซึ่งนั่นก็คือ ‘Inspiration of JAPAN’ ที่เราภาคภูมิใจ ประสบการณ์พิเศษที่ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ ANA นี้ คือสิ่งที่เราต้องการมอบให้แก่ลูกค้า เรามุ่งมั่นพัฒนาบริการของเราในทุกๆ วัน เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะเป็นเพียงสายการบินเดียวที่สามารถส่งมอบคุณค่าเหนือระดับนี้ให้แก่ลูกค้า และนี่คือคำสัญญาจาก ANA” Mr. Sagara กล่าวเสริม

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้DHL Express คาดช่วงพีคซีซั่น ปี 2020 ทำลายสถิติขนส่งด่วน
บทความถัดไปกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับ TIFFA จัดอบรมพัฒนาบุคลากรโลจิสติกส์ ฟรี!
Phubet Boonrasri
Chen is an experienced writer and an avid explorer of nature. He thrives on travelling, hiking, and backpacking to new places. His wanderlust has allowed him to experience and learn from new cultures, allowing him to better accommodate for whatever comes his ways.