ผู้ส่งออก-นำเข้าสินค้าทางอากาศ คงจะคุ้นเคยกับ Air Waybill (AWB) หรือใบตราส่งสินค้าทางอากาศเป็นอย่างดี แต่เอกสาร AWB ในที่นี้ สามารถแบ่งออกได้หลากหลายประเภท ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของคู่สัญญาที่แตกต่างกันไป บทความพิเศษนี้ AFL ได้มีโอกาสพูดคุยกับ KAS Thailand เพื่อแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับ Direct AWB และ Forwarder AWB ให้ผู้นำเข้า-ส่งออกได้ทราบถึงข้อแตกต่าง มีอะไรบ้าง ไปดูกัน
1. ผู้ออกเอกสาร AWB
ในกรณีที่ผู้ส่งสินค้าทำสัญญากับสายการบินให้เป็นผู้ดำเนินการขนส่งโดยตรง สายการบินจะเป็นผู้ออก Direct AWB ให้กับผู้ส่งสินค้า แต่ในกรณีที่ผู้ส่งสินค้าทำสัญญากับตัวแทนขนส่งสินค้า ตัวแทนขนส่งฯ ก็จะเป็นผู้ออก Forwarder AWB ให้กับผู้จัดส่งสินค้า โดยมีอยู่สองประเภทได้แก่ Master AWB และ House AWB
2. ลักษณะการขนส่ง
Direct AWB ระบุถึงการขนส่งสินค้าตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางโดยสายการบินเป็นผู้จัดการขนส่งให้แก่ผู้ส่งสินค้าโดยตรง และผู้ส่งสินค้าเป็นผู้จัดส่ง (Shipper) และผู้รับสินค้า (Consignee) ที่แท้จริง
Forwarder AWB ระบุถึงการขนส่งสินค้าผ่านตัวแทนขนส่งสินค้า ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นการขนส่งแบบ Consolidation ที่รวบรวมสินค้าจากผู้ส่งสินค้าหลายรายในเที่ยวบินเดียว
3. การรับสินค้าที่ปลายทาง
ในกรณีของ Direct AWB ผู้รับสินค้าจะได้รับ “หนังสือแจ้งการมาถึงของเที่ยวบิน (Arrival Note)” และ ”ใบปล่อยสินค้า (Delivery Order: D/O)” จากสายการบินโดยตรง ผู้รับสินค้าจึงสามารถนำเอกสาร D/O ไปดำเนินการเพื่อรับสินค้าที่ท่าอากาศยานปลายทางได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอการดำเนินการผ่านตัวแทนฯ
ส่วนในกรณีของ Forwarder AWB ผู้รับสินค้าจะต้องรอตัวแทนขนส่งดำเนินการนำเข้าและกระจายสินค้าให้เนื่องจากเป็นการขนส่งสินค้าแบบ Consolidation
จะเห็นได้ว่าทั้ง Direct AWB และ Forwarder AWB ต่างก็เป็นเอกสารหลักฐานที่ระบุถึงรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกัน ทั้งการขนส่งสินค้าโดยตรงกับสายการบินและการขนส่งสินค้าผ่านตัวแทนขนส่งสินค้า ซึ่งทั้งสองรูปแบบต่างก็มีรายละเอียดการขนส่งที่แตกต่างกันไปอีก ทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ออกเอกสาร รวมถึงการรับสินค้าที่ปลายทาง เพราะฉะนั้น การทำความเข้าใจ AWB ทั้งสองประเภทนี้ จึงจะช่วยให้ผู้นำเข้า-ส่งออก เตรียมความพร้อมสำหรับการขนส่งสินค้าทางอากาศได้อย่างถูกต้อง และช่วยให้การขนส่งสินค้าเป็นไปอย่างราบรื่นในท้ายที่สุด
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่