สับปะรด เป็นหนึ่งในผลไม้ยอดนิยมที่ผู้ผลิตสินค้าการเกษตรไทยส่งออกไปยังประเทศจีน อย่างไรก็ตาม หากผู้ผลิตหรือผู้ส่งสินค้าต้องการส่งออกสับปะรดไปยังประเทศจีน จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของ “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง การขอใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับผลไม้ส่งออกจากราชอาณาจักรไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2564” อย่างเคร่งครัด

เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการดำเนินงานเอกสารตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดรวมถึงป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการส่งออก KAS Thailand จึงได้สรุปใจความสำคัญของประกาศฯ ให้ผู้ส่งออกสับปะรดเข้าใจถึงเงื่อนไขสำคัญในการส่งออกสับปะรดไปยังประเทศจีน เพื่อสนับสนุนการขนส่งให้เป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด

ประเภทสับปะรดที่สามารถส่งออกได้

สำนักงานศุลกากรประเทศจีน  (General Administration of Customs of People’s Republic of China: GACC) อนุญาตให้นำเข้าเพียงผลไม้สด ดังนั้น ผู้ส่งออกจึงสามารถส่งออกได้เพียงสับปะรดผลสดทั้งผลที่ยังไม่ผ่านกระบวนการใดๆ เท่านั้นขณะที่สับปะรดปอกเปลือก เช่น สับปะรดภูแลปอกเปลือก จะนับเป็นผลไม้ตัดแต่ง ไม่ใช่ผลไม้สด ดังนั้นจึงไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าประเทศจีน

นอกจากนี้ สับปะรดจะต้องมาจากแปลงที่ได้รับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) และโรงคัดบรรจุที่ได้รับมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (Good Manufacturing Practice: GMP) ซึ่งถือเป็นมาตรฐานของ GACC เท่านั้น โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อแปลงและโรงคัดบรรจุที่ได้มาตรฐานได้บนเว็บไซต์  https://www.gacc.app/

ขั้นตอนที่จำเป็นในการส่งออกสับปะรด

ก่อนส่งออกสับปะรด ผู้ส่งออกจำเป็นต้องขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกผลไม้จากราชอาณาจักรไปสาธารณรัฐประชาชนจีน (หมายเลขทะเบียน CNXXXX หรือทะเบียน CN) ) จากกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช (กมพ.)

รวมถึงต้องได้รับใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate: PC) โดยสามารถยื่นขอใบรับรองฯ ได้ จากกลุ่มบริการส่งออกสินค้าเกษตร หรือด่านตรวจพืช สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร หรือเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตร

หลังจากขึ้นทะเบียน CN และได้รับใบรับรอง PC ผู้ส่งออกจะสามารถดำเนินการส่งออกสับปะรดไปยังประเทศจีนได้อย่างถูกต้อง โดยจำเป็นต้องแนบใบรับรอง PC ไปกับสินค้าด้วยทุกครั้ง

เงื่อนไขการส่งออกสับปะรดผ่านช่องทางต่างๆ

สำหรับการขนส่งสับปะรดทางน้ำและอากาศ ผู้ส่งออกจำเป็นต้องระบุวันที่ตรวจ หมายเลขตู้ขนส่งผลไม้ (ถ้ามี) และหมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุ ในช่อง Additional declaration ของใบรับรอง PC เพื่อยื่นให้แก่ด่านตรวจพืช โดยการขนส่งทั้งสองโหมดสามารถส่งออกผ่านทุกด่านตรวจพืช

ในส่วนของการขนส่งทางบกผ่านประเทศที่สาม ผู้ส่งออกจำเป็นต้องระบุวันที่ตรวจ หมายเลขตราผนึก หมายเลขตู้ขนส่งผลไม้ รวมถึงข้อความรับรับรองพิเศษ “This fruit is in compliance with the Protocol on the Inspection and Quarantine Requirements for Exportation and Importation of Fruits between Thailand and China through Territories of the Third Countries” ในช่อง Additional declaration ของใบรับรอง PC ทั้งนี้ ใบรับรองฯ จะมีผลบังคับใช้ 10 วัน นับตั้งแต่วันที่ออกหนังสือ โดยการขนส่งสับปะรดทางบกผ่านประเทศที่สามสามารถส่งออกผ่านทางด่านตรวจพืชที่กำหนดในพิธีสาร ดังต่อไปนี้

  • ด่านเชียงของ
  • ด่านบึงกาฬ
  • ด่านนครพนม
  • ด่านมุกดาหาร
  • ด่านหนองคอย
  • จุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาด จ.จันทบุรี

เงื่อนไขตามประกาศฯ ดังกล่าว ถือเป็นข้อปฏิบัติที่ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสับปะรดพึงต้องทำความเข้าใจอย่างถี่ถ้วน และคำนึงถึงผู้ให้บริการที่สามารถกำกับดูแลการปฏิบัติการขนส่งให้เป็นไปตามเงื่อนไขของประกาศฯ อย่างถูกต้อง โดย KAS Thailand พร้อมสนับสนุนผู้ส่งออกด้วยทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งออกสินค้าทุกประเภท รวมถึงผลไม้และการส่งออกสับปะรดของลูกค้าให้ไปถึงจุดหมายปลายทาง ณ ประเทศจีน โดยสวัสดิภาพ


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้ECS Group จับมือ Thai VietJet Air ยกระดับการขายและการให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศในไทยและเอเชีย
บทความถัดไปGebrüder Weiss เปิดตัวสาขาที่ 3 ในออสเตรเลีย