สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เร่งกระตุ้นให้รัฐบาลของทุกประเทศเดินหน้าวางแผนร่วมกับอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศเตรียมความพร้อมสำหรับการขนส่งวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ทันทีที่วัคซีนได้รับการอนุมัติและพร้อมสำหรับการจัดส่งไปยังปลายทางทั่วโลก อีกทั้ง ทาง IATA ยังได้เตือนให้อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศเตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณความต้องการขนส่งวัคซีนที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาเดียวกัน
โดยปกติแล้วอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศถือเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขนส่งและกระจายวัคซีนไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ผ่านเครือข่ายและระบบการกระจายสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อเวลาและอุณหภูมิที่มีประสิทธิภาพ โดยทันทีที่วัคซีนป้องกัน COVID-19 ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการ ความพร้อมและศักยภาพในการรองรับการกระจายวัคซีนที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพจะกลายเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญยิ่งกว่าที่เคย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของแต่ละประเทศยังจำเป็นจะต้องมีการวางแผนที่รอบคอบ รัดกุม และร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานในอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ
Mr. Alexandre de Juniac อธิบดีและประธานเจ้าหน้าบริหาร สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) กล่าวว่า “การขนส่งวัคซีน COVID-19 อย่างปลอดภัยจะกลายเป็นภารกิจสำคัญแห่งศตวรรษของอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีการวางแผนที่รัดกุมไว้ล่วงหน้า ซึ่งปัจจุบันถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ทุกฝ่ายจะต้องเริ่มดำเนินการ เราจึงขอให้รัฐบาลของทุกประเทศเร่งเดินหน้าร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั่วทั้งซัพพลายเชนการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน การจัดการความปลอดภัย และกระบวน การขนส่งสินค้าข้ามแดน ให้พร้อมรองรับการขนส่งสินค้าที่ซับซ้อนและมีความสำคัญต่อชีวิตในครั้งนี้”
Dr. Seth Berkley ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร องค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน (GAVI) กล่าวว่า “การขนส่งวัคซีนปริมาณมหาศาลไปยังปลายทางทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงอุปสรรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดซัพพลายเชนด้วย ทั้งในส่วนของแผนการและกระบวนการโลจิสติกส์ที่ซับซ้อน เราจึงมุ่งหวังที่ประสานงานร่วมกับภาครัฐ บริษัทผู้ผลิตวัคซีน และพันธมิตรในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการขนส่งวัคซีน COVID-19 จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม”
Facilities
เนื่องจากวัคซีนจำเป็นต้องได้รับการจัดการและขนส่งตามหลักเกณฑ์สากล ภายใต้การควบคุมอุณหภูมิสินค้าอย่างเคร่งครัดโดยปราศจากความล่าช้าเพื่อคงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน เรายังคงมีชุดข้อมูลที่ไม่อาจทราบได้อย่างแน่ชัดอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นปริมาณสินค้าทั้งหมด ระดับอุณหภูมิเฉพาะที่เหมาะสมสำหรับวัคซีนชนิดใหม่ รวมไปถึงแหล่งที่ตั้งของโรงงานผู้ผลิต แต่สิ่งหนึ่งที่เราคาดการณ์ได้อย่างแน่นอนก็คือ ขอบเขตของการขนส่งวัคซีนเหล่านี้จะเป็นสเกลที่ใหญ่มาก และจำเป็นต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานในการจัดเก็บ ขนส่ง และกระจายสินค้าตลอดทั้ง cold chain เพื่อให้การจัดส่งวัคซีนไปยังปลายทางทั่วโลกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วที่สุด ทั้งนี้ IATA ได้ระบุหัวข้อสำคัญเกี่ยวกับการจัดการคลังสินค้าที่ทุกฝ่ายจะต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการกระจายวัคซีน COVID-19 ไว้ดังนี้
- มีคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิและอุปกรณ์ยกขนสินค้าที่พร้อมรองรับการจัดเก็บและขนส่งวัคซีน COVID-19 โดยมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากคลังสินค้าและโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิม ลดการก่อสร้างคลังสินค้าชั่วคราวให้น้อยที่สุด
- มีบุคลากรที่ผ่านการอบรมด้านการจัดการสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อเวลาและอุณหภูมิมากเพียงพอต่อการปฏิบัติการ
- มีการจัดการติดตามสถานะสินค้าที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าวัคซีนจะได้รับการรักษาคุณภาพตลอดการขนส่ง
Security
วัคซีนถือเป็นสินค้ามูลค่าสูง ดังนั้น การจัดการสินค้าจำเป็นต้องได้รับการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการสูญหาย และความเสียหายจากบุคคลภายนอก แม้ว่าปัจจุบัน การจัดการขนส่งสินค้ามูลค่าสูงจะมีการดูแลจัดการที่ดีอยู่แล้ว แต่เราต้องไม่มองข้ามข้อเท็จจริงว่าชิปเมนท์มูลค่าสูงเหล่านี้จะมีปริมาณมากเป็นพิเศษและมีสเกลการจัดการที่ใหญ่และซับซ้อนกว่าที่เคย
Border Processes
การดำเนินงานร่วมกับองค์กรด้านสุขภาพและหน่วยงานศุลกากรอย่างมีประสิทธิภาพถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การอนุมัติขั้นตอนนำเข้า-ส่งออกวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีการประเมินด้านความปลอดภัย ตลอดจนขั้นตอนการจัดการและผ่านพิธีการศุลกากรที่เหมาะสม ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องที่มีความท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากทุกวันนี้ภาครัฐของแต่ละประเทศล้วนมีกระบวนการคัดกรองเพื่อป้องกันเชื้อ COVID-19 ที่เข้มงวด จนทำให้มีขั้นตอนการดำเนินการที่ซับซ้อนและใช้ระยะเวลามากขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติ อย่างไรก็ตาม IATA ได้เสนอแนะแนวทางการจัดการขนส่งวัคซีนข้ามแดนที่ทุกฝ่ายควรเตรียมความพร้อม ดังต่อไปนี้
- จัดทำช่องทางด่วน (fast-track) สำหรับเที่ยวบินขนส่งวัคซีน COVID-19
- ยกเว้นข้อบังคับในการกักตัวลูกเรือที่ปฏิบัติการเที่ยวบินขนส่งวัคซีนเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการจัดการซัพพลายเชนขนส่งวัคซีน COVID-19
- ยกเลิกเคอร์ฟิวชั่วโมงการปฏิบัติการสำหรับเที่ยวบินขนส่งวัคซีนเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่เครือข่ายการปฏิบัติการขนส่งวัคซีนทั่วโลก
- ให้สิทธิ์และลำดับความสำคัญในการลงจอดสำหรับชิปเมนท์ขนส่งสินค้าที่มีความเร่งด่วน เพื่อป้องกันความเสียหายต่อตัวสินค้าในกรณีที่อาจมีการผันผวนของอุณหภูมิอันเกิดจากความล่าช้า
- พิจารณาลดค่าธรรมเนียมต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนย้ายวัคซีน
Capacity
นอกเหนือจากการเตรียมความพร้อมสำหรับการขนส่งและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ แล้ว ภาครัฐยังจำเป็นต้องพิจารณาถึงขีดความสามารถที่อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศทั่วโลกสามารถรองรับได้ในปัจจุบันด้วย โดยทาง IATA ได้เตือนว่า การลดเที่ยวบินโดยสารลงอย่างกะทันหันตลอดช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้สายการบินแต่ละแห่งได้ปรับลดเครือข่ายการให้บริการ ลดจำนวนเครื่องบินที่ใช้ในการปฏิบัติการ อีกทั้ง เส้นทางการบินทั่วโลกที่ให้บริการในปัจจุบันยังลดน้อยลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยองค์การอนามัยโลก (WHO), กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF), และองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน (GAVI) ได้รายงานว่าปัจจุบันวิกฤติ COVID-19 ได้ก่อให้เกิดปัญหาและความยุ่งยากในการดำเนินการตามแผนโครงการกระจายวัคซีนป้องกันโรค โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเครือข่ายการขนส่งทางอากาศที่ถูกจำกัดตลอดช่วงที่ผ่านมา
Ms. Henrietta Fore ผู้อำนวยการบริหาร องค์การ UNICEF กล่าวว่า “ทุกวันนี้ผู้คนทั่วโลกต่างตั้งตารอวัคซีน COVID-19 นั่นจึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะสร้างความมั่นใจว่าทุกประเทศจะสามารถเข้าถึงวัคซีนที่มีความสำคัญต่อชีวิตนี้ได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และเท่าเทียมกัน โดยทันทีที่วัคซีนได้รับการผลิตและพร้อมสำหรับการใช้งาน ในฐานะผู้นำในการจัดซื้อและส่งมอบวัคซีน COVID-19 ในนามของหน่วยงาน COVAX Facility องค์การ UNICEF จะทำหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ในการปฏิบัติการครั้งใหญ่ที่สุดและรวดเร็วที่สุดของโลกในครั้งนี้ ซึ่งแน่นอนว่าสายการบินและบริษัทขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการขนส่งนี้ด้วย”
การจัดส่งวัคซีนครั้งนี้ จะเป็นการขนส่งที่มีสเกลใหญ่เป็นประวัติการณ์ เพราะการขนส่งวัคซีนเพื่อนำไปฉีดให้แก่ประชาชนทั่วโลกคน ละหนึ่งโดส สำหรับผู้คนกว่า 7,800 ล้านคนนั้นจำเป็นต้องใช้เครื่องบินขนส่งสินค้า รุ่น 787 จำนวนถึง 8,000 ลำ แม้ว่าในประเทศกำลังพัฒนาที่มีโรงงานการผลิตในประเทศจะสามารถใช้โหมดการขนส่งทางบกเข้ามาช่วย แต่ก็ต้องยอมรับว่าการกระจายวัคซีนไปยังปลายทางทั่วโลกนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีโหมดการขนส่งทางอากาศเข้ามาเกี่ยวข้อง
Mr. Juniac กล่าวว่า “สมมติว่าครึ่งหนึ่งของวัคซีนทั้งหมดสามารถจัดส่งไปยังปลายทางด้วยโหมดการขนส่งทางถนน แต่ความจริงก็คืออุตสาหกรรมทางอากาศยังจะต้องประสบกับความท้าทายในการขนส่งสินค้าครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์อยู่ดี ดังนั้น ในการวางแผนขนส่งวัคซีนครั้งนี้ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ภาครัฐต้องมีการวางแผนและพิจารณาถึงพื้นที่ระวางสินค้า ในการขนส่งทางอากาศที่มีอยู่อย่างจำกัดในปัจจุบันด้วย หากพรมแดนระหว่างประเทศยังคงปิดอยู่ การเดินทางยังคงถูกจำกัด พนักงานภาคพื้นและลูกเรือยังคงถูกพักงาน แน่นอนว่าขีดความสามารถในการจัดส่งวัคซีน เพื่อช่วยชีวิตผู้คนก็จะถูกจำกัดตามไปด้วย”
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่