การจัดการยกขนและขนส่งสินค้าทั่วไป ถือเป็นกลุ่มสินค้าหลักที่บริษัทผู้รับจัดการขนส่งสินค้าและสายการบินทุกรายมีการปฏิบัติการเป็นประจำทุกวัน ด้วยกฎระเบียบการปฏิบัติการและมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ทำให้บริษัทผู้รับจัดการขนส่งสินค้าและสายการบินสามารถให้บริการจัดการขนส่งสินค้าทั่วไปได้อย่างง่ายดาย
ขณะที่การขนส่งสินค้าอื่นๆ ที่มีความซับซ้อนและแตกต่างจากสินค้าทั่วไป อย่าง การขนส่งสินค้าประเภทของสดเสียง่าย จำเป็นต้องใช้โซลูชั่นและความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อให้การบริการขนส่งสินค้าประเภทนี้เป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม นอกจากนี้ อีกหนึ่งความท้าทายของการขนส่งสินค้า cool chain ที่ต้องมีการรักษาอุณหภูมิสินค้า ก็คือการประสานงานร่วมกันตลอดทั้งซัพพลายเชน เพื่อให้มั่นใจว่าการขนส่งจะเป็นไปอย่างราบรื่นตั้งแต่ต้นทางไปถึงปลายทาง
นอกเหนือจากการจัดการขนส่งสินค้าประเภทของสดเสียง่ายแล้ว ชิปเมนท์ที่มีความท้าทายและต้องใช้เครื่องมือพิเศษ รวมไปถึงความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ยังครอบคลุมถึงสินค้าที่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก และสินค้าประเภทสัตว์มีชีวิต เนื่องจากการขนส่งสินค้าเหล่านี้หากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจนำมาซึ่งความเสียหายต่อสินค้าได้ อย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะการขนส่งสัตว์มีชีวิต ที่ความผิดพลาดใดๆ อาจหมายถึงชีวิตของสัตว์
การขนส่งสัตว์มีชีวิตมีความซับซ้อนและขั้นตอนมากมายที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ รวมถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรฐานด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด เพื่อรับรองสวัสดิภาพของสัตว์ที่ทำการขนส่ง เนื่องจากการขนส่งสัตว์บกทางอากาศต้องเผชิญความเสี่ยงและปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอนการขนส่ง อย่างไรก็ตาม ความท้าทายเหล่านั้นจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณทันทีเมื่อต้องทำการขนส่งสัตว์น้ำ เนื่องจากการขนส่งสัตว์เหล่านี้จะต้องทำการขนส่งโดยใช้ตู้ส่งสินค้าหรือแท็งก์ที่บรรจุน้ำอยู่ภายใน นอกจากนี้ คุณภาพน้ำที่ใช้ในการขนส่งต้องสะอาด ปราศจากการปนเปื้อน และห้ามมิให้มีน้ำรั่วไหลในระหว่างขั้นตอนการจัดการและขนส่ง
นิตยสาร AFL ฉบับนี้ ได้รับเกียรติจาก Mr. Sergey Lazarev ผู้จัดการทั่วไป สายการบิน AirBridgeCargo (ABC) มาร่วมแบ่งปันข้อมูลในแต่ละขั้นตอนของการขนส่งสัตว์น้ำทางอากาศ รวมถึงมาตรฐานด้านความปลอดภัย เพื่อรับรองสวัสดิภาพของสัตว์มีชีวิตที่ได้รับการขนส่งโดยสายการบินฯ
AnimalTransportation Expertise
Mr. Lazarev ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ในการขนส่งสัตว์มีชีวิตแทบทุกชนิดของสายการ บินฯ ว่า “สายการบินฯ มีผลงานในการขนส่งสัตว์มีชีวิตด้วยความเชี่ยวชาญพิเศษและประสบการณ์ในการขนส่งสัตว์น้ำมากมาย ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเราได้ให้บริการขนส่งสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โลมา วอลรัส ปลา รวมถึงวาฬเบลูกา ด้วยเครื่องบินขนส่งสินค้า รุ่น Boeing 747”
เพื่อเป็นการลงรายละเอียดเกี่ยวกับชิปเมนท์การขนส่งสัตว์น้ำ Mr. Lazarev ได้อธิบายถึงความท้าทายในการขนส่งสัตว์น้ำที่สายการบินฯ เคยปฏิบัติการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการขนส่งวาฬเบลูกาจำนวนหกตัว ผ่านการบรรจุลงในแท็งก์น้ำขนาดใหญ่สี่ถัง
“เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สายการบินฯ ได้ทำ การขนส่งวาฬเบลูกาจำนวนหกตัวจาก ศูนย์โลมา Anapa Dolphinarium ใน Moscow ประเทศรัสเซีย ไปยังศูนย์โลมาท้องถิ่นในเกาะ Haikou ประเทศจีน โดยน้ำหนักรวมทั้งหมดของวาฬเหล่านี้หนักถึง 16 ตัน อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นการเดินทางที่ยาวนาน แต่กระบวนการขนส่งก็เป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งการขนส่งด้วยรถบรรทุกจาก Anapa ไปยังท่าอากาศยาน Moscow Shere-metyevo เพื่อรับการตรวจสุขภาพสัตว์น้ำ เปลี่ยนน้ำในแท็งก์ และทำการขนย้ายขึ้นเครื่องบินขนส่งสินค้า รุ่น Boeing 747”
“ทีมงานของเราที่ให้บริการ abcCARE ปฏิบัติการตามขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อรับรองสวัสดิภาพของสัตว์และช่วยให้การขนส่งเป็นไปอย่างราบรื่น นอกจากนี้ ศูนย์โลมา Anapa Dolphinarium ยังได้ไว้ใจให้สายการบินฯ ขนส่งโลมาจำนวนสองตัว น้ำหนัก 5.5 ตัน จาก Moscow ไปยัง Beijing ด้วยขั้นตอนการขนส่งแบบเดียวกับการขนส่งวาฬ ซึ่งการที่สายการบินฯ ได้สร้างความสัมพันธ์ในระยะยาวกับศูนย์โลมา Utrish Dolphinarium และ Sochi Aquarium ในรัสเซีย ถือเป็นความภาคภูมิใจที่สายการบินฯ ได้รับเลือกให้ทำการขนส่งสัตว์ของทั้งสองแห่ง” Mr. Lazarev กล่าวเสริม
ยิ่งไปกว่านั้น อีกหนึ่งบริการขนส่งสัตว์มีชีวิตที่น่าสนใจของสายการบินฯ ก็คือ การขนส่งพะยูน เนื่องจากในขณะนี้มีจำนวนพะยูนอยู่ในสวนสัตว์ทั่วโลกเพียง 76 ตัว ซึ่งปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือจำนวนของพะยูนเพศเมียในทวีปยุโรปที่มีจำนวนไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการขนส่งพะยูนเพศเมียจากทั่วโลกไปยังสวนสัตว์เหล่านั้น เพื่อสร้างยีนพูล (gene pool) ของประชากรพะยูนให้มีความหลากหลาย โดยสายการบินฯ ได้ทำการขนส่งพะยูนจากสิงคโปร์ไปยังโปแลนด์โดยใช้เวลาประมาณ 20 ชั่วโมง นับเป็นอีกหนึ่งชิปเมนท์สัตว์มีชีวิตที่มีความท้าทายสูงของสายการบินฯ
Mr. Lazarev อธิบายต่อว่า “การปฏิบัติการขนส่งพะยูนจำเป็นต้องใช้โซลูชั่นทางโลจิสติกส์ที่มีความซับซ้อนสูง เนื่องจากเป็นการขนส่งสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูง เนื่องจากพะยูนเป็นสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ ดังนั้น การขนส่งสัตว์ชนิดนี้จึงมีความท้าทายเป็นอย่างมาก โดยในขั้นแรกเราจะนำพะยูนไปพักไว้บนเปล เพื่อช่วยป้องกันปอดของพะยูนที่อาจได้รับการบาดเจ็บจากแรงกดที่เกิดจากน้ำหนักตัว ก่อนที่จะวางลงในลังไม้ขนาดใหญ่ที่สั่งทำขึ้นมาเป็นพิเศษ จากนั้นเราจึงทำการเพิ่มความชื้นด้วยฟองน้ำเปียกอย่างต่อเนื่องตลอดการขนส่งทางอากาศและทางบก นอกจากนี้ เรายังมีเจ้าหน้าที่จำนวนหกคนคอยดูแลความปลอดภัยของพะยูน รวมไปถึงเจ้าหน้าที่จากสวนสัตว์ในสิงคโปร์ด้วย โดยกระบวนการทั้งหมดนี้มีความสำคัญ เนื่องจากเราต้องสร้างความมั่นใจว่าพะยูนจะเกิดความเครียดจากการเดินทางน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ยิ่งไปกว่านั้น อีกหนึ่งความท้าทายในการขนส่งที่เราพบก็คือ การรักษาอุณหภูมิให้เหมาะสมทั้งระหว่างทำการบินและขณะอยู่ที่ภาคพื้นดิน เนื่องจากการขนส่งครั้งนี้เราต้องเผชิญกับการสภาพอากาศที่แตกต่างอย่างสุดขั้ว จากอากาศร้อนจัดในสิงคโปร์ ไปยังสถานที่ที่มีอากาศเย็นในช่วงกันยายน ใน Moscow และ Warsaw อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดแล้วเราก็ประสบความสำเร็จในการขนส่งชิปเมนท์นี้ ซึ่งผมเชื่อว่านี่คือหนึ่งในการขนส่งสัตว์มีชีวิตที่มีความโดดเด่นที่สุดของสายการบินฯ และได้แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญในการขนส่งสัตว์มีชีวิตของเราได้เป็นอย่างดี”
Perfect Processes
สำหรับขั้นตอนในการขนส่งสัตว์น้ำ ผู้ให้บริการจะต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า ก่อนที่จะมีการขนย้ายสัตว์ขึ้นเครื่องบิน โดยขั้นตอนต่างๆ จะเริ่มตั้งแต่การจัดทำและดูแลแพเล็ตให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ตลอดจนการเปลี่ยนน้ำในแท็งก์ก่อนขึ้นบิน เพื่อรับรองความปลอดภัยในขั้นตอนขนย้ายสัตว์ อย่างไรก็ตาม สายการบินยังต้องมีขั้นตอนเตรียมการล่วงหน้าอื่นๆ อีกหลายขั้นตอนที่ต้องจัดการให้เรียบร้อย
Mr. Lazarev อธิบายถึงขั้นตอนการเตรียมการของสายการบินฯ ว่า “ก่อนที่เราจะยืนยันการจองพื้นที่ระวางบนเครื่องบินและดำเนินการขั้นตอนการรับสัตว์เพื่อทำการขนส่ง สายการบินฯ ได้มีการเตรียมการขั้นต้น และตรวจสอบอุปกรณ์พื้นฐาน รวมถึงประสิทธิภาพของประตูรับสินค้า อุปกรณ์จัดการภาคพื้น และบริการสัตวแพทย์ที่ท่าอากาศยานขาเข้าและขาออกในขั้นตอนการรับและจัดการสินค้า หลังจากได้รับการยืนยันว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนทุกส่วนเตรียมตัวพร้อมสำหรับขั้นตอนการรับสัตว์แล้ว ก็ยังมีปัจจัยอื่นที่ต้องคำนึงถึงด้วย ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการด้านเอกสารต่างๆ ที่ต้องได้รับการรับรอง เช่น ใบรับรองสุขภาพสัตว์น้ำ หนังสือรับรองสัตว์น้ำตามบัญชีแนบท้ายอนุสัญญา CITES หรือเอกสาร สำคัญอื่นๆ การเลือกตู้ ULD ตู้สินค้า เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกสบายในการขนส่งที่สอดคล้องกับข้อกำหนดด้านตู้สินค้าตามระเบียบการรับขนส่งสัตว์มีชีวิตของสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA Live Animals Regulations; LAR) ด้วยเหตุนี้ที่อยู่อาศัยชั่วคราวต้องจึงมีสภาพที่เรียบร้อยและสามารถปกป้องสัตว์จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากระหว่างการขนส่งได้”
“เมื่อสัตว์อยู่บนเครื่องบิน ตู้สินค้าต้องมีการผูก มัด และขึงอย่างถูกต้อง ในกรณีของสัตว์น้ำขนาดใหญ่ ออกซิเจนเป็นสิ่งที่จำเป็นตลอดการเดินทางบนเที่ยวบินนั้นๆ ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเนื่องจากออกซิเจนกระป๋องส่วนใหญ่จัดเป็นสินค้าอันตราย ดังนั้น ออกซิเจนกระป๋องที่ใช้ในการขนส่งสินค้าประเภทนี้ต้องได้รับการรับรองและได้รับอนุญาตจากสายการบิน เพื่อให้มั่นใจว่า สอดคล้องกับกฎของทางสายการบินและ IATA นอกจากนี้ ในการขนส่งทุกครั้งจะต้องมีผู้ดูแลหรือสัตวแพทย์ คอยเฝ้าสังเกตการณ์ระหว่างขั้นตอนการขนย้าย ขึ้นหรือลงจากเครื่องบินอยู่เสมอ เพื่อทำให้สัตว์อยู่ในอาการสงบ พร้อมทั้งต้องมีการจัดเตรียมอาหารสำหรับสัตว์ให้เพียงพอ โดยเฉพาะเที่ยวบินที่เดินทางเป็นเวลานาน และในระหว่างทำการบินควรมีการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อสวัสดิภาพของสัตว์” Mr. Lazarev กล่าว
Important Regulations
ทั้งนี้ แนวทางในการขนส่งสัตว์มีชีวิตทางอากาศตามระเบียบการขนส่งสัตว์มีชีวิต (LAR) ของ IATA ที่จัดทำขึ้นเพื่อสร้างแม่แบบเกี่ยวกับขั้นตอนการขนส่ง เพื่อรับรองความปลอดภัยและสวัสดิภาพของสัตว์ ซึ่งระเบียบการปฏิบัติการเหล่านี้ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในซัพพลายเชนต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่กำหนดไว้ใน LAR
นอกจากนี้ Mr. Lazarev ยังได้อธิบายเพิ่มเติมถึงข้อบังคับที่กำหนดไว้ใน LAR ของ IATA ว่า “ULD ทุกตู้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดด้านตู้สินค้าสำหรับการขนส่งสัตว์มีชีวิต ใน LAR และโครงสร้างของตู้ ULD ต้องแข็งแรง คงรูป และได้มาตรฐานความปลอดภัยสำหรับการบิน ผนังด้านในของตู้ควรมีผิวสัมผัสเรียบ เพื่อป้องกันการถลอกหรือขีดข่วนบนตัวสัตว์ ยิ่งไปกว่านั้น ULD จะต้องมีขนาดยาวมากพอเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ได้รับบาดเจ็บจากการขนย้ายด้วยสลิง โดยควรพื้นที่ปลอดภัยที่มีระยะห่างอย่างน้อย 20 เซนติเมตร และต้องมีอยู่ทั้งในส่วนหน้าและหลัง ซ้ายและขวาของสัตว์ด้วย”
“นอกเหนือจากนี้ IATA ยังได้ตีพิมพ์ภาคผนวก I ลงใน LAR ฉบับที่ 43 เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาการค้าสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งสายการบินระดับโลกส่วนใหญ่ รวมถึงสายการบินของเรา ก็ได้ยอมรับข้อตกลงและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด” Mr. Lazarev กล่าววเสริม
Caring for Animal Well-being
สายการบินฯ ได้พัฒนาบริการ abcCARE เพื่อรับรองความปลอดภัยในการขนส่งสัตว์มีชีวิต โดยบุคลากรที่ได้รับการรับรอง รวมไปถึงประสบการณ์อันยาวนานของเรา ตลอดจนขั้นตอนการปฏิบัติการภายในที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน การฝึกอบรม ความร่วมมือจากพันธมิตรที่มีความน่าเชื่อถือ และการปฏิบัติตามกฎระเบียบการปฏิบัติการที่มีการบังคับใช้ ทำให้สายการบินฯ สามารถส่งมอบโซลูชั่นให้แก่ลูกค้าโดยคำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์เป็นหลัก
สุดท้ายนี้ สายการบินฯ ได้ให้คำแนะนำในการขนส่งสัตว์มีชีวิตทุกชนิดให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและปลอดภัยสำหรับลูกค้าที่จะมาใช้บริการขนส่งสินค้าประเภทนี้ โดยแนะนำให้ลูกค้าติดต่อกับทางสายการบินฯ ล่วงหน้าก่อนวันเดินทาง เพื่อให้แน่ใจว่าขั้นตอนทุกอย่างจะเป็นไปอย่างถูกต้อง หากลูกค้าปฏิบัติตามขั้นตอนของสายการบินฯ การขนส่งสินค้าจะสามารถเป็นไปอย่างราบรื่น
Mr. Lazarev กล่าวว่า “สายการบินฯ ได้ทำการพัฒนาและเพิ่มเติมขั้นตอนการปฏิบัติการที่เป็นมาตรฐานสำหรับการขนส่งสัตว์มีชีวิต ซึ่งครอบคลุมถึงเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ทั้งจากการล่าช้าของ เที่ยวบินหรือการยกเลิกเที่ยวบิน สภาพอากาศ และเหตุการณ์อื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้น การขนส่งสัตว์แต่ละชิปเมนท์จะได้รับการดูแลและควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญภายในศูนย์ควบคุมตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้มั่นใจว่าการขนส่งสินค้าจะเป็นไปอย่างปลอดภัยและราบรื่น นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการอยู่ในศูนย์ควบคุมยังสามารถรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการขนส่งและลงมือแก้ไขได้อย่างทันท่วงที เพื่อรับรองความปลอดภัยในการขนส่งสัตว์ทุกชนิดที่เดินทางกับสายการบินของเรา”
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่