สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เปิดเผยข้อมูลของอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศทั่วโลกซึ่งแสดงให้เห็นแนวโน้มความต้องการขนส่งสินค้าทางอากาศตลอดปี 2022 ที่กำลังปรับตัวเข้าใกล้สภาวะก่อนเกิดวิกฤตโรคระบาดในปี 2019
โดยปริมาณความต้องการขนส่งสินค้าทางอากาศทั่วโลกตลอดปี 2022 คิดเป็นตัน-กิโลเมตร (CTKs) ปรับลดลง 8.0 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2021 ซึ่งลดลง 8.2 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการปฏิบัติการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และเมื่อเทียบกับปี 2019 คิดเป็นอัตราการหดตัว 1.6 เปอร์เซ็นต์ ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ
ในแง่ของพื้นที่ระวางสินค้าสำหรับการขนส่งสินค้าทางอากาศของอุตสาหกรรมในปี 2022 คิดเป็นตัน-กิโลเมตร (ACTKs) ขยายตัว 3.0 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2021 ซึ่งมีการขยายตัว 4.5 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการปฏิบัติการขนส่งระหว่างประเทศ และเมื่อเทียบกับในปี 2019 ช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 พื้นที่ระวางสินค้ามีอัตราหดตัวลง 8.2 เปอร์เซ็นต์ และหดตัวลง 9.0 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการปฏิบัติการขนส่งระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2022 ผลประกอบการของอุตสาหกรรมฯ มีการชะลอตัวลง โดยปริมาณความต้องการขนส่งสินค้าทางอากาศทั่วโลกต่ำกว่าระดับในปี 2019 ถึง 15.3 เปอร์เซ็นต์ หดตัว 15.8 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการปฏิบัติการขนส่งระหว่างประเทศ และตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2022 เป็นต้นมา ความต้องการขนส่งสินค้าทางอากาศรายเดือนหดตัวอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปี 2021 พื้นที่ระวางสินค้าทั่วโลกมีอัตราต่ำกว่าระดับปี 2021 ในสัดส่วน 2.2 เปอร์เซ็นต์ หดตัว 0.5 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการปฏิบัติการขนส่งระหว่างประเทศ โดยนับเป็นการหดตัวติดต่อกันยาวนานถึง 10 เดือน เมื่อเทียบกับปี 2019
แนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจของปี 2022 ส่งสัญญาณที่มีความหลากหลายดังนี้
- คำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ทั่วโลก ซึ่งเป็นปัจจัยบ่งชี้ถึงปริมาณความต้องการขนส่งสินค้ายังคงอยู่ในระดับเดิมตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2022 และพบว่าในประเทศเศรษฐกิจหลักมียอดคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่หดตัว ยกเว้นในเยอรมนี สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
- ปริมาณการแลกเปลี่ยนค้าสินค้าทั่วโลกหดตัว 1.5 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 โดยลดลงจากอัตราการขยายตัว 3.4 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนตุลาคม
- ดัชนีราคาผู้บริโภคสำหรับกลุ่มประเทศ G7 ส่งสัญญาณถึงภาวะอัตราเงินเฟ้อต่อเนื่องที่ 6.8 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนธันวาคม ปี 2022 โดยลดลงจาก 7.4 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนพฤศจิกายน และนับเป็นช่วงการหดตัวที่มากที่สุดในรอบปี โดยอัตราเงินเฟ้อในราคาผู้ผลิต (ปัจจัยการผลิต) ลดลงเหลือ 12.7 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในปี 2022
“จากความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติการของอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศ ทำให้มีการหดตัวลดลงเมื่อเทียบกับปี 2021 ซึ่งมีการขยายตัวมากเป็นพิเศษ และส่งผลให้ปริมาณความต้องการบริการขนส่งสินค้าทางอากาศต่ำกว่าระดับปี 2019 (ก่อนเกิดโรคระบาด) ถึง 1.6 เปอร์เซ็นต์ มาตรการต่อเนื่องของรัฐบาลในประเทศเศรษฐกิจสำคัญในการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อด้วยการชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจ คาดว่าจะส่งผลให้มีปริมาณสินค้าลดลงถึง 5.6 เปอร์เซ็นต์ในปี 2023 เมื่อเทียบกับปี 2019 อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้อาจต้องใช้เวลาในการที่จะส่งผลกระทบต่อปริมาณสินค้า ดังนั้น ข่าวดีก็คือ อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยและรายได้รวมสำหรับปี 2023 จะยังคงสูงกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาด ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาแนวโน้มผลกระทบของสภาพแวดล้อมการซื้อขายที่มีความท้าทายในอีกหนึ่งปีข้างหน้าลงได้บ้าง” Mr. Willie Walsh ผู้อำนวยการใหญ่ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ กล่าว
สำหรับผลการปฏิบัติการของอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศในเอเชียแปซิฟิกประจำปี 2022 พบว่ามีปริมาณความต้องการใช้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศลดลง 8.8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2021 หดตัว 7.4 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการปฏิบัติการขนส่งระหว่างประเทศ และมีพื้นที่ระวางสินค้าให้บริการเพิ่มขึ้น 0.5 เปอร์เซ็นต์ ขยายตัว 5.8 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการปฏิบัติการขนส่งระหว่างประเทศ โดยเมื่อเทียบกับปี 2019 (ช่วงก่อน COVID-19) พบว่ามีปริมาณความต้องการใช้บริการหดตัวลง 7.8 เปอร์เซ็นต์ และหดตัว 3.9 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการปฏิบัติการขนส่งระหว่างประเทศ และพื้นที่ระวางสินค้าให้บริการลดลง 17.2 เปอร์เซ็นต์ หดตัว 12.2 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการปฏิบัติการขนส่งระหว่างประเทศ ในเดือนธันวาคม สายการบินในเอเชียแปซิฟิกมีผลการดำเนินงานต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับทั่วโลก โดยปริมาณความต้องการใช้บริการลดลง 21.2 เปอร์เซ็นต์ หดตัว 20.4 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการปฏิบัติการระหว่างประเทศ เมื่อเทียบกับปี 2021 และพื้นที่ระวางสินค้าให้บริการหดตัวลง 3.9 เปอร์เซ็นต์ และหดตัว 1.4 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการปฏิบัติการระหว่างประเทศในช่วงเวลาเดียวกัน
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่