Mr. Willie Walsh อธิบดี IATA กล่าวว่า “การใช้เชื้อเพลิง SAF จะช่วยลดความต้องการในการใช้เชื้อเพลิงการบินของสายการบินลงได้ราว 65 เปอร์เซ็นต์ เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ด้วยเหตุนี้ ปริมาณการผลิตในปีนี้ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าจากปีที่ผ่านมาจึงถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ภารกิจของเรายังมีหนทางอีกยาวไกล แต่ทิศทางการใช้งานเชื้อเพลิง SAF ที่เพิ่มมากขึ้นก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีและเรากำลังให้ความสำคัญอย่างยิ่ง”

Renewable Fuel Production and SAF

ปัจจุบัน เชื้อเพลิงหมุนเวียนถูกผลิตขึ้นเพื่อใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งเชื้อเพลิง SAF เองก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตเชื้อเพลิงหมุนเวียนเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้ การผลิตเชื้อเพลิงหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้นจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตเชื้อเพลิง SAF ที่อาจเพิ่มขึ้นตามมา โดยโครงการผลิตเชื้อเพลิงหมุนเวียนที่มีศักยภาพในการผลิตเชื้อเพลิง SAF ราว 140 โครงการ ได้ประกาศว่าจะเริ่มต้นสู่กระบวนการผลิตภายในปี 2030 ซึ่งหากสามารถทำได้จริง ขีดความสามารถในการผลิตเชื้อเพลิงหมุนเวียนทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นเป็น 51 ล้านตันภายในปี 2030 โดยมีฐานการผลิตกระจายในแทบทุกภูมิภาค

ทั้งนี้ ขีดความสามารถในการผลิตเชื้อเพลิงหมุนเวียนมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ตามการคาดการณ์ดังกล่าว เนื่องจากความสนใจในการลงทุนในเชื้อเพลิง SAF ที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยระยะเวลาการดำเนินงานในระหว่างขั้นตอนการวางแผนสู่ขั้นตอนการผลิตราว 3-5 ปี คาดการณ์ว่าการผลิตหลังจากการประกาศลงทุนภายในปี 2027 จะเริ่มต้นขึ้นภายในปี 2030 อย่างไรก็ตาม เป็นที่แน่ชัดว่าการประกาศโครงการดังกล่าวมิได้ลุล่วงไปถึงการตัดสินใจลงทุนในขั้นตอนสุดท้ายทุกโครงการ

ด้วยความร่วมมือกับองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) รัฐบาลจากหลายประเทศต่างตั้งเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรมการบินระหว่างประเทศผ่านการใช้เชื้อเพลิง SAF ไว้ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 ทั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว คาดการณ์ว่าราว 27 เปอร์เซ็นต์ ของขีดความสามารถในการผลิตเชื้อเพลิงหมุนเวียนทั้งหมดภายในปี 2030 จำเป็นต้องรองรับการผลิตเชื้อเพลิง SAF ซึ่งปัจจุบันยังคงมีการผลิตเชื้อเพลิง SAF เพียง 3 เปอร์เซ็นต์ จากการผลิตเชื้อเพลิงหมุนเวียนทั้งหมดเท่านั้น

Mr. Walsh กล่าวว่า “เชื้อเพลิง SAF กำลังเป็นที่สนใจเพิ่มมากขึ้นในอุตสาหกรรมฯ ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสอีกมากมายในอนาคต อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตยังคงห่างไกลคำว่าเพียงพอตามแผนการที่เราวางไว้อยู่มาก รัฐบาลของหลายประเทศได้ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรมการบินผ่านการใช้เชื้อเพลิง SAF ให้ได้ 5 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 รวมถึงเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ไว้แล้ว เพราะฉะนั้น ภาครัฐจึงควรเริ่มดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อช่วยสนับสนุนให้สายการบินสามารถจัดหาเชื้อเพลิง SAF ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด”

Potential Policy Measures to Boost SAF Production

IATA  ได้นำเสนอโซลูชันที่เป็นไปได้เพื่อช่วยให้การผลิตเชื้อเพลิง SAF สามารถตอบสนองต่อปริมาณเชื้อเพลิงที่สายการบินต่างๆ ต้องการไว้ดังนี้

  • เพิ่มความหลากหลายในวัตถุดิบตั้งต้น: ราว 80 เปอร์เซ็นต์ ของเชื้อเพลิง SAF ซึ่งคาดการณ์ว่าจะถูกผลิตขึ้นในอีกห้าปีข้างหน้า ล้วนผลิตขึ้นมาจากกรดไขมันไฮโดรเจน (Hydrogenated Fatty Acids: HEFA) อาทิ น้ำมันประกอบอาหารและไขมันสัตว์ ดังนั้น การผลิตโดยใช้กรรมวิธีและวัตถุดิบตั้งต้นซึ่งผ่านการรับรองที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น อาทิ กากขยากจากการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมป่าไม้ รวมถึงขยะมูลฝอยจากชุมชน จะช่วยยกระดับการผลิตเชื้อเพลิง SAF ได้มากยิ่งขึ้น
  • ยกระดับด้วยกระบวนการเผาร่วม: โรงกลั่นน้ำมันในปัจจุบันสามารถใช้กระบวนการเผาร่วม (co-processing) จากวัตถุดิบตั้งต้นหมุนเวียนและน้ำมันดิบได้มากถึง 5 เปอร์เซ็นต์ โดยโซลูชันดังกล่าวสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังสามารถยกระดับการผลิตเชื้อเพลิง SAF ได้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม การนำเสนอนโยบายต่างๆ ก็จำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อช่วยให้การประเมินวงจรชีวิตเชื้อเพลิงสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง
  • สร้างแรงจูงใจในการจัดสรรการผลิตภายในอุตสาหกรรมการผลิตเชื้อเพลิงหมุนเวียน: อุตสาหกรรมการผลิตเชื้อเพลิงหมุนเวียนในปัจจุบันถูกออกแบบมาสำหรับการผลิตเชื้อเพลิงดีเซลเป็นหลัก ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบจากแรงจูงใจจากความต้องการในการขนส่งสินค้าทางบก ดังนั้น เมื่อการขนส่งสินค้าทางบกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบไฟฟ้า รัฐบาลจึงควรใช้โอกาสนี้ดำเนินนโยบายเพื่อสร้างแรงจูงใจในการจัดสรรการผลิตเชื้อเพลิง SAF ในอุตสาหกรรมฯ ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในการขนส่งสินค้าทางอากาศในระยะยาว เนื่องจากการสร้างแรงจูงใจในการผลิตเชื้อเพลิง SAF จะช่วยให้อุตสาหกรรมฯ เปลี่ยนผ่านจากการผลิตเชื้อเพลิงดีเซลมาเป็นเชื้อเพลิง SAF เป็นหลักได้ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวอาศัยการปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยภายในอุตสาหกรรมการผลิตเชื้อเพลิงหมุนเวียนเท่านั้น
  • สร้างแรงจูงใจในการกระตุ้นการลงทุนในการผลิตเชื้อเพลิงหมุนเวียน: การผลิตเชื้อเพลิงหมุนเวียนทุกประเภทจำเป็นต้องได้รับการยกระดับอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลิตเชื้อเพลิง SAF ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้านนโยบายจากภาครัฐอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น นโยบาย US Grand Challenge ซึ่งมาพร้อมเงินสนับสนุนมากกว่า 3,000 ล้านเหรียญ นอกจากนี้ นโยบายลดหย่อนภาษีระยะยาวยังจะช่วยยกระดับการผลิตเชื้อเพลิง SAF ทั้งในภาคการผลิตปัจจุบันและใหม่ด้วย

Mr. Walsh กล่าวทิ้งท้ายว่า “ด้วยการสร้างแรงจูงใจในการผลิตเชื้อเพลิงหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้น การสร้างซัพพลายเชนวัตถุดิบตั้งต้นที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงการจัดสรรการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานที่เพิ่มมากขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิตเชื้อเพลิงหมุนเวียน จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรมการบินได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ภาครัฐยังสามารถสนับสนุนโซลูชันทางเทคนิคที่ช่วยเร่งกระบวนการผลิตด้วยวัตถุดิบตั้งต้นและกรรมวิธีที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงกระบวนการเผาร่วมด้วยวัตถุดิบตั้งต้นหมุนเวียนภายในโรงกลั่นน้ำมัน แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีนโยบายหรือกลยุทธ์ใดที่จะช่วยเร่งปริมาณการผลิตได้ตามเป้าหมายที่เราต้องการ แต่ด้วยการดำเนินนโยบายดังกล่าวอย่างผสมผสาน มีความเป็นไปได้อย่างมากที่เราอาจสามารถผลิตเชื้อเพลิง SAF ได้ในปริมาณที่เพียงพอ”


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้Lufthansa Cargo เตรียมออกบูธในงาน ‘transport logistic China’
บทความถัดไปTurkish Cargo ได้รับการรับรอง LEED v4.1 จากการปฏิบัติการศูนย์ SMARTIST ใน Istanbul