ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต้อนรับรถไฟฟ้าไร้คนขับขบวนแรก

0
1119

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา คุณสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ บริษัท Interlink Communication Public Company Limited นำทีมต้อนรับรถไฟฟ้าไร้คนขับ (Automated People Mover: APM) ขบวนแรกสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีคุณเอนก ธีระวิวัฒน์ชัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ร่วมต้อนรับ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

คุณสมบัติ อนันตรัมพร เปิดเผยว่า หลังจากที่ Interlink ได้ชนะการประกวดราคาจัดหารถไฟฟ้าไร้คนขับ APM ใน ‘โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2’ ในงานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) มูลค่า 2,100 ล้านบาท ภายใต้ความร่วมมือของบริษัท Siemens Mobility ในการจัดหาระบบรถไฟฟ้า รุ่น Airval สำหรับใช้เชื่อมต่อขนส่งผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสารหลักกับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) โดยขบวนแรกได้รับการจัดส่งมายังประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และขนย้ายมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยสวัสดิภาพ โดยบริษัทจะทยอยส่งมอบรถไฟฟ้า APM ให้ครบทั้ง 6 ขบวนภายในสิ้นปีนี้ และคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการประชาชนภายในเดือนเมษายน ปี 2022

ทั้งนี้ รถไฟฟ้าไร้คนขับ APM เป็นเทคโนโลยีของบริษัท Siemens ผู้นำด้านรถขนส่งโดยสารอัตโนมัติไร้คนขับของโลก สำหรับรถไฟฟ้าไร้คนขับที่จะนำมาให้บริการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้นเป็นระบบรางวิ่ง 4 รางคู่ขนาน ระยะทางวิ่ง 1 กิโลเมตร และมีจำนวน 2 สถานี วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาไม่เกิน 2 นาทีต่อเที่ยว วิ่งให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์  รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 3,590 คนต่อชั่วโมง

รถไฟฟ้า APM รุ่น Airval มีโรงงานผลิตอยู่ที่กรุง Vienna ประเทศออสเตรีย โดยบริษัทจะนำเข้าทั้งหมด 6 ขบวน ขบวนละ 2 ตู้ รวมเป็น 12 ตู้ ซึ่งใน 1 ขบวนสามารถจุผู้โดยสารได้ 210 คน รูปแบบรถเป็นระบบอัตโนมัติ มีระบบควบคุมการขับเคลื่อนอยู่ที่ศูนย์กลาง พร้อมด้วยระบบอาณัติสัญญาณ Communication Based Train Control system (CBTC) ที่จะเป็นระบบการทำงานอัตโนมัติที่พัฒนาขึ้นมาจากประเทศฝรั่งเศส มีระบบรางวิ่งแบบ central rail-guided APM ที่มีรางจ่ายไฟบริเวณกึ่งกลางทางวิ่ง มีระยะเบรคสั้น ล้อของรถ Airval เป็นยาง ซึ่งจะยึดเกาะได้ดีในพื้นที่ลาดเอียงและให้เสียงที่เงียบกว่าเมื่อเข้าโค้งเมื่อเทียบกับรถไฟระบบอื่นๆ นอกจากนี้ นวัตกรรมด้านระบบการจัดเก็บและสำรองพลังงานของระบบรถไฟฟ้ารุ่นนี้ช่วยให้มั่นใจได้ว่าการทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

คุณสมบัติ กล่าวว่า “ประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใช้ระบบรถไฟขับเคลื่อนแบบไร้คนขับในการรับ-ส่งผู้โดยสารในท่าอากาศยาน Interlink มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถึงแม้ว่าตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการจะพบเจออุปสรรคมากมาย อาทิ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินยูโร ระยะเวลาในการส่งมอบรถที่ล่าช้ากว่ากำหนด จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ Interlink ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงการงานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ เพื่อยกระดับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในเอเชียที่มีศักยภาพในระดับสากล เพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้อย่างน้อย 60 ล้านคนต่อปี”

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้DHL จับมือ Air France KLM Martiair Cargo ยกระดับความโปร่งใสในกระบวนการขนส่งสินค้าทางการแพทย์
บทความถัดไปSwiss WorldCargo ขยายตารางเที่ยวบินฤดูร้อนถึงสิ้น ต.ค.
Phubet Boonrasri
Chen is an experienced writer and an avid explorer of nature. He thrives on travelling, hiking, and backpacking to new places. His wanderlust has allowed him to experience and learn from new cultures, allowing him to better accommodate for whatever comes his ways.